28 กค.นี้ แบงก์ชาติเตรียมออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ชนิดราคา 500-1000 บาท

แฟ้มภาพ-แบงก์ชาติแถลงออกใช้ธนบัตรฉบับใหม่แบบ 17 เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะออกใช้ธนบัตรแบบ 17 ชนิดราคา 500 บาทและ 1000 บาท ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนต่อไป

โดยด้านหน้าธนบัตรทุกชนิดราคา เชิญพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารอากาศ เป็นภาพประธาน

ส่วนภาพประธานด้านหลัง ชนิดราคา 500 บาท เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

ส่วนภาพประธานด้านหลัง ชนิดราคา 1000 บาท เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สำหรับ ธนบัตรทั้งสองชนิดราคานี้ ที่มีมูลค่าสูง ได้นำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงแบบพิเศษมาใช้ ได้แก่ ลายประดิษฐ์ พิมพ์ด้วยเทคโนโลยีหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ทำให้เกิดลวดลายสามมิติเคลื่อนไหวเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียวได้ และแถบสีที่ฝังในเนื้อกระดาษจะมีบางส่วนปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และเห็นรูปเคลื่อนไหว ลายประดิษฐ์ ที่เรียงกันในแนวตั้ง ใกล้กับบริเวณลายน้ำ พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบเหลือง

นายวิรไท กล่าวว่า การออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงข้อความเตือนระบุโทษปลอมหรือแปลงธนบัตรที่ด้านหลังธนบัตรให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2560 โดยด้านหลังของธนบัตรทุกชนิดจะมีข้อความว่า “การปลอมหรือแปลงเป็นความผิด ต้องระวังโทษตามประมวลกฎหมายอาญา” เพื่อให้สามารถรองรับการแก้ไขกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นต้นไป ประชาชนสามารถเบิกถอนได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง และสำหรับธนบัตรทุกแบบที่ออกมาใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ได้ตามกฎหมายโดยไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด