กุนซือชี้ช่องจัดพอร์ตลงทุน กระจายเสี่ยงฝ่ามรสุมผันผวน

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดทุนทั้งที่เกิดจากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจำนวนมาก และปัจจัยที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน เชื่อว่าเป็นเวลาสำคัญของนักลงทุนต่างก็ต้องปรับพอร์ตการลงทุนกันแล้ว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอน ให้บาลานซ์กับผลตอบแทนที่คาดหวัง ในมุมมองของผู้จัดการกองทุน และโบรกเกอร์ต่าง ๆ ก็มีมุมมองเป็นเคล็ด (ไม่) ลับมานำเสนอ สำหรับการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพื่อติดอาวุธก่อนตัดสินใจจะดูแลพอร์ตอย่างไรให้ฝ่ามรสุมช่วงนี้

เริ่มจากมุมมองของ “ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี มีความเห็นว่า การลงทุนในหุ้นกู้รายตัวที่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงในภาวะตลาดผันผวนเช่นนี้ โดยหุ้นกู้ระยะสั้นแนะนำ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ออกหุ้นกู้เยอะ และออกขายอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่หุ้นกู้ระยะยาวจะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ปตท. กลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มสื่อสาร ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ออกหุ้นกู้ไม่บ่อย โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างกำไรได้เองมาก จึงออกหุ้นกู้กันน้อยลง

“การลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ควรลงทุนเกิน 30-40% ของสินทรัพย์การลงทุน และมองว่าการดูเครดิตเรตติ้งอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ควรจะมองว่าตราสารหนี้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ที่จะสามารถทำให้การลงทุนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียน้อยลง” นายวินกล่าว

ในขณะที่นักลงทุนหลายคนเลือกที่จะลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ โดย “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ว่า ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้จัดการกองทุนจะมีเทคนิคต่าง ๆ เช่น ลดการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวที่จะมีความผันผวนสูง และมาถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนตราสารหนี้ควรถือจนครบระยะเวลาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่กำหนด

“ถ้าระยะเวลาของตราสารหนี้ยาวจะได้ผลตอบแทนสูง แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นจะเหมาะกับการจัดการด้านสภาพคล่อง” นายวศินกล่าว

ด้านตลาดหุ้นไทย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ยืนยันว่าขณะนี้ตลาดหุ้นไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ bear market เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับตัวลดลงราว 10% จากระดับ 1,830 จุด ลงมาอยู่ที่ 1,590 จุด ขณะที่สถิติการเข้าสู่ภาวะตลาดหมี ดัชนีจะต้องปรับลงมามากกว่า 20% ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ควรลงทุนด้วยความระมัดระวังในทั้งหุ้น mid cap/small cap ที่มีค่า P/E (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ) ระดับสูงจนเกินไป โดยหุ้นที่ควรให้ความสำคัญคือหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจในประเทศมีโอกาสเติบโตดี ควรหลีกเลี่ยงปัญหาการส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า ได้แก่ หุ้นค้าปลีก (กำลังซื้อสูงขึ้น) และธนาคารพาณิชย์ (ราคาลงมาสะท้อนไปพอสมควรแล้ว ถึงแม้ว่าจะถูกดิสรัปชั่นจากกระแส FinTech แต่กลุ่มแบงก์เลือกเข้าไปลงทุนในฟินเทคค่อนข้างมาก ยังมีโอกาสทำกำไรได้ค่อนข้างสูง)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท แต่ยังไม่กระทบสัดส่วนการถือครองที่อยู่ 30% เพราะต่างชาติเทขายส่วนที่เป็นกำไร พร้อมแนะนำให้กระจายการลงทุน โดยเพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นประเภท defensive stock (หุ้นที่ไม่ค่อยผันผวนง่าย) เช่น กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน และควรถือ “เงินสด” ไว้พร้อมลงทุนด้วย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน นักลงทุนควรประเมินพื้นฐานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยแนะนำหุ้นที่มีการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพวัดจากตัวเลขจีดีพีที่เติบโตสูงเฉลี่ยที่ 7-8% ซึ่งสะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ นักลงทุนควรเลือกหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงและสม่ำเสมอ โดยหากดูการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งตลาดจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% รวมถึงหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม well-being index หรือหุ้น world class อาทิ AOT BDMS

ส่วน บลจ.บัวหลวง “นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารค่ายนี้ ได้เสนอทางเลือกลงทุนที่มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นว่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (property fund) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5-6% ต่อปี และสามารถลงทุนได้ทุกกลุ่ม เหมาะกับนักลงทุนที่ชอบปันผล โดยสิ่งที่ต้องพิจารณา ได้แก่ อัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR), การจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องหรือไม่, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV), สภาพคล่อง, outlook และคุณภาพสินทรัพย์ พร้อมแนะนำว่าสถานการณ์ตอนนี้ถ้าได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 4-6% ก็ควรจะทยอยซื้อ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังอย่างใกล้ชิด “ดร.ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากช่วงเดือน พ.ย.นี้เป็นช่วงการหาเสียงของประธานาธิบดี “ทรัมป์” และอีกปัจจัยที่เป็นเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ ส่งผลต่อนักลงทุนส่วนใหญ่ถอนเงินทุนออกจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย เพื่อลดความเสี่ยง

“ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า แต่อีไอซีมองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรงซึ่งจะช่วยเป็นกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีได้โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้น่าจะโตเพียง 4.2 %ซึ่งต่ำกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า” นายยรรยงกล่าว

ส่วนภาพทั้งปี อีไอซีก็ยังมองเศรษฐกิจในมุมมองบวก โดยปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย ขยายตัว 4.3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จีดีพีขยายตัวได้ดีถึง 4.4% มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยมีแรงส่งจากทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ส่งผลต่อความต้องการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว ทำให้เกิดการบริโภคและการลงทุนตามมา ทำให้ประเมินการเติบโตของภาคส่งออกปีนี้โต 8.5% และการท่องเที่ยวโตสูงถึง 13% โดยคาดว่าภาคบริโภคขยายตัว 3.5% และการลงทุนเอกชนโต 3.5% ส่วนภาครัฐการลงทุนอยู่ที่ 10.7%

มุมมองที่หลากหลายของคนในวงการตลาดทุน เป็นการจับทิศการลงทุนและการรับมือในช่วงนี้