“วิกฤตค่าเงินตุรกี หนุนนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์”

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่้ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/8) ที่ระดับ 33.26/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนทยอยกันเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมาจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินตรุกี โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10/8) ตัวแทนตรุกีได้เข้าไปเจรจากับสหรัฐ เพื่อผ่อนปรนภาษีนำเข้าแต่ไม่เป็นผล ทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์และอ่อนค่าลงเรื่อยมาจนถึงเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตรุกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของตุรกีค่อนข้างอ่อนแอจากภาวะเงินเฟ้อสูงกว่า 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี และหนี้สินต่างประเทศสูงกว่า 50% ต่อจีดีพี ทั้งนี้สกุลเงินลีราร่วงลงหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมทรงตัวที่ระดับ 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์และเท่ากับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 2.3% เมื่อเดือนก่อน และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.24-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่ระดับ 1.1405/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/8) ที่ระดับ 1.1463/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่า การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าธนาคารพาณิชย์ในสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีความเชื่อมโยงทางการเงินกับตุรกีในระดับสูง แต่ในระหว่างวันค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยภายหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสสองของปีนี้ ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 0.4% ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1380-1.1429 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1393/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่ระดับ 110.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/8) ที่ 110.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องจากการที่นักลงทุนเข้าถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินตรุกี ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.59-111.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 1110.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือน ก.ค.ของสหรัฐ (14/8), อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ของอังกฤษ (15/8), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.ของสหรัฐ (15/8), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ส.ค.จากเฟดนิวยอร์คของสหรัฐ (15/8), การผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ค.ของสหรัฐ (15/8) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (15/8), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ส.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ (15%), ยอดนำเข้า ยอดส่งออกและดุลการค้าเดือน ก.ค.ของญี่ปุ่น (16/3), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.ของอังกฤษ (16/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/8), อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ของยูโรโซน (17/8) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือน ส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (17/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”