นักลงทุนยังคงเข้าถือดอลลาร์ จากความกังวลในสถานการณ์ทางการเงินของตุรกี

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 33.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าถือเงินดอลลาร์จากความกังวลที่มีต่อค่าเงินลีราของตุรกี แม้ว่าค่าเงินลีราจะดีดตัวขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (14/8) หลังจากนายเรเซฟ เตย์ยิป เออร์ควน ประธานาธิบดีตุรกีได้ประกาศว่าจะคว่ำบาตรสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐเมื่อวานนี้ (14/8) และได้ลงนามในคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐในวันนี้ (15/8) โดยตุรกีปรับเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 120% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 140% และบุหรี่เป็น60% รวมถึงสินค้าในกลุ่มของเครื่องสำอาง ข้าว และถ่านหิน เพื่่อตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเก็บภาษีเหล็ก และอะลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่มขึ้น

โดยสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และตุรกีเริ่มจากการที่สหรัฐต้องการให้ตุรกีปล่อยตัวนายแอนดริว บรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวในตุรกีมาเกือบสองปีแล้ว จากการที่ทางการตุรกีกล่าวหาว่านายแอนดริวมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายที่ตุรกีกล่าวหาว่าพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อสองปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงมามากกว่า 70% นับจากต้นปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของตุรกีติดลบต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี รวมถึงสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระภาระหนี้ต่างประเทศในอนาคตของตุรกี

ในส่วนของประเทศไทยนั้น นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศตุรกี เมื่อวานนี้ (14/8) ว่าความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท.จะติดตามผลกระทบ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.30-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (15/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1343/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 1.1393/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสถงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินตรุกีที่จะมีต่อธนาคารในยุโรป โดยเฉพาะธนาคารบีบีวีเอของสเปน ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ของฝรั่งเศส ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1338 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1323/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (15/8) เปิดตลาดที่ระดับ 111.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 110.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินเยนยังได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.18-111.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (15/8) ผลสำรวจดัชนีอุตสาหกรรมในนิวยอร์ค (15/8) คาดการณ์กำลังการผลิตนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (15/8) คาดการณ์อัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐ (15/8) ปริมาณการสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ (15/8) ใบอนุญาตการก่อสร้างของสหรัฐ (16//) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/8) อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมของยูโรโซน (17/8) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (17/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.45/2.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”