เครดิตบูโรลุยเพิ่มสมาชิก 15 ราย-แก้กฎหมายเปิดทางฟินเทค

“เครดิตบูโร” ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 10-15 รายในปีนี้ ดึงทั้งบิ๊กภูธร”นาโนไฟแนนซ์-เช่าซื้อ-ไมโครฯ” ชง สนช.แก้กฎหมายทัน พ.ย. หนุนรับฟินเทค

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้จะมีกลุ่มธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ธุรกิจเช่าซื้อ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด รวมถึงไมโครไฟแนนซ์ จะเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรราว 10-15 ราย จากปัจจุบันที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 100 ราย และหากกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตที่แก้ไขมีผลบังคับใช้ได้เร็ว จะเป็นการเปิดทางให้กลุ่มธุรกิจฟินเทคเข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในปีนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าไว้

ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ล่าสุดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทัน พ.ย.นี้

“ถ้าแก้กฎหมายสำเร็จ พวกตัวกลางทางการเงิน พวกแมตชิ่ง พวกแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็จะมีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกเราได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การรับสมาชิก เราไม่ได้เน้นแต่จำนวน เพราะข้อมูลต่าง ๆ ต้องถูกต้อง” นายสุรพลกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สาระของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ เปิดทางให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางที่เกี่ยวเนื่องการให้สินเชื่อที่เป็นสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้

ทั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการทำธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ ๆ สนับสนุนและส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงวิสาหกิจตั้งใหม่ (startup) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประวัติทางการเงินจะได้มีช่องทางหรือโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยผ่านผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า อันจะช่วยลดการกู้ยืมหนี้นอกระบบได้ โดยการมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง จะช่วยให้ SMEs และ startup มีโอกาสประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้มากขึ้น และเป็นการพัฒนาระบบการเงินให้รองรับการแข่งขันที่เสรียิ่งขึ้นอีกด้วย

ซึ่งหากไม่ดำเนินการแก้กฎหมายให้ตัวกลางเหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ จะทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์การแข่งขันเสรีและการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินโลกที่รวดเร็ว โดยปัจจุบันมีการประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้กู้ยืมหรือผู้ลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน เช่น crowdfunding portal และ P2P lending portal เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ