เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น 2 ประกันชีวิตเขย่าพอร์ตลงทุนเพิ่มผลตอบแทน

2 ประกันชีวิตปรับพอร์ตลงทุนรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น “โตเกียวมารีนฯ” พร้อมบริหารเงินก้อนใหม่รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น มั่นใจยึดหลักบริหารสินทรัพย์-หนี้สินอย่างสมดุล พร้อมรับมือความเสี่ยงดอกเบี้ยขึ้น-ลง ชูเงินกองทุน CAR พุ่งทะลุ 570% ฟาก “ฟิลลิปฯ” เล็งโยกพอร์ตหุ้นที่ลงทุน 30% เข้ามาถือบอนด์เพิ่ม

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังปรับพอร์ตลงทุน (allocate asset) ให้สอดรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากเป็นโอกาสดีในการจะนำเงินที่ลูกค้าจ่ายเบี้ยประกันหรือเก็บเบี้ยปีต่ออายุไปลงทุนรอบใหม่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะมีการปรับพอร์ตในส่วนที่ลงทุนพันธบัตร (บอนด์) ไว้อยู่ก่อนหน้า เนื่องจากบอนด์เก่าที่ลงทุนไว้จะได้รับผลกระทบจากราคาบอนด์ที่ตกลง ซึ่งเป็นผลจากการที่ต้องบันทึกราคาบอนด์เก่าตามราคาตลาด (mark to market) ก็จะทำให้พอร์ตมีมูลค่าสินทรัพย์ลดลงตามตลาดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปกติพอร์ตของบริษัทจะมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน(Asset-Liability Management Techniques หรือ : ALM) ค่อนข้างมากพอสมควร เพื่อให้ฝั่งสินทรัพย์ที่ลงทุนกับหนี้สิน (เบี้ยประกันที่รับเข้ามา) มีระยะเวลาที่สอดรับกัน (matching) ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

“เราค่อนข้างจริงจังในการทำ ALM เพราะว่าวัตถุประสงค์ในการนำเงินลูกค้ามาลงทุนก็เพื่อที่จะจ่ายผลตอบแทนตามสัญญาในอนาคต ซึ่งประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาว หากไม่ทำ ALM ไว้ดี ๆ อาจจะเกิดความเสี่ยงได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปมาตลอด” นางสาวยุวดีกล่าว

Advertisment

นางสาวยุวดีกล่าวว่า ผลจากการเน้นกลยุทธ์ในการทำ ALM ทำให้เกิดผลบวกที่ชัดเจน คือ อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) ที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยในปีླྀ อัตราส่วนเงินกองทุนของบริษัทอยู่ที่ 311% ขยับขึ้นมาจากปีก่อนที่อยู่ 242% และต่อมาช่วงกลางปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 570% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงเรื่อง ALM มาตลอดในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปี

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/61 บริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนรวมอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสัดส่วนใหญ่ถึง 85% และหุ้นกู้ 6% ส่วนหุ้นอยู่ที่ 4% ซึ่งจะเน้นลงทุนหุ้นในประเทศที่กระจายทุกกลุ่มธุรกิจ โดยจะเกาะกับ Benchmark คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ส่วนที่เหลืออีก 5% จะเป็นการถือเงินสดและลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นที่เทียบเท่ากับเงินสด สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนของพอร์ตเฉลี่ยอยู่ที่ 4%

“ภาพรวมการลงทุนของเราถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้นเป็นบอนด์ระยะสั้นถึงระยะกลางมีทั้งอายุ 10, 15, 20 ปี แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจประกันชีวิตเน้นลงทุนในบอนด์ระยะยาวอายุ 30, 50 ปีเป็นหลัก ทำให้อัตราผลตอบแทนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3-3.7%” นางสาวยุวดีกล่าว

ด้านนายชวลิต ทองรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส-ฝ่ายขาย และ CAO บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วโลก เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนต่อไป โดยกำลังพิจารณาจะโยกเงินลงทุนจากส่วนของหุ้นบางส่วนออกไปลงทุนในบอนด์และอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งพอร์ตปัจจุบันของบริษัทอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้สัดส่วนเกือบ 50% ส่วนที่เหลือจะลงทุนหุ้นสัดส่วน 30% (ซึ่งเต็มเพดานตามที่ คปภ.กำหนด) เน้นลงทุนหุ้นในประเทศโดยจะเป็นหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากราคาหุ้นมีความผันผวนน้อย และมีการลงทุนหุ้นในต่างประเทศบ้าง นอกจากนี้ บริษัทมีการปล่อยกู้มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ (pol-icy loan) สัดส่วนกว่า 10% และที่เหลืออีก 7-8% จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมและเงินฝาก ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 6%

Advertisment

“ด้านการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALM) เรามีการติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทาง บล.ฟิลลิปฯ เป็นคนเดียวกัน เพราะฉะนั้น ทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด” นายชวลิตกล่าว