เสียงเตือนรับมือปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า กนง.จ้องขึ้นดอกเบี้ย…เร็วไปหรือไม่ ?

ช่วงนี้ ผลสำรวจของนักวิเคราะห์วิจัยหรือนักลงทุนต่างมองไปในทางเดียวกันว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งหากดอกเบี้ยขึ้น คนเป็นหนี้ก็จะเหนื่อยและเครียดกันทีเดียว เพราะดอกเบี้ยกู้ต่าง ๆ จะขึ้นตามแน่นอน เวลานี้ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว นั่นหมายถึงภาระต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะที่ “นายวิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ออกมาส่งสัญญาณถี่และแรงขึ้นถึงโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด (24 ส.ค.) ก็กล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มกระจายตัวดีขึ้นและลงไปยังเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น แต่ กนง.ก็จะต้องพิจารณาตามข้อมูลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงเสถียรภาพ ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง ที่มีทั้งสถานการณ์ในต่างประเทศโดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักด้วย ส่วนในประเทศก็ยังมีเรื่องท่องเที่ยวหลังจากเกิดเหตุเรือล่ม ซึ่ง กนง.ก็จะพิจารณาถึงระยะเวลาเหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วย

ขณะที่ “นายอมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็ตั้งคำถามว่า “เราพร้อมกับดอกเบี้ยขาขึ้นแล้วหรือ” โดยระบุว่าสถานการณ์ที่ผ่านมา คนจำนวนมากไม่รู้สึกดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในระดับสูงอย่างที่เห็น เพราะรายได้หรือสภาวะความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ไม่ว่ามนุษย์เงินเดือน คนค้าขาย คนในภาคเกษตรยังบ่นว่า เศรษฐกิจไม่ดี แม้การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตราว 4.5% แต่มาแยกดูจะพบว่า ส่วนที่โตแรงมาจากการซื้อรถยนต์หลังหมดโครงการรถคันแรก ทำให้ซื้อขายเปลี่ยนมือได้แล้ว จึงมาซื้อรถใหม่กัน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งขนส่ง โรงแรม และร้านอาหาร ขณะที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ในกลุ่มที่เติบโตได้น้อย นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตรแม้จะขยับขึ้นในไตรมาสที่ 2 แต่ก็อยู่ในระยะเริ่มฟื้นจากผลผลิตที่ออกมามาก แต่ราคาสินค้ายังหดตัวอยู่ ซึ่งเกษตรกรยังมีหนี้สูง ทำให้กำลังซื้อต่ำ

“ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยขาขึ้นมีสัญญาณที่ชัดเจนดี และหลายสำนักมองว่า น่าจะปรับดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ เรามองว่ายังเร็วเกินไป เศรษฐกิจไทยยังไม่กระจายตัวพอ น่าจะรอสักไตรมาสแรกของปีหน้า จึงขยับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้กลุ่มที่เติบโตช่วยสร้างงาน ขยายชั่วโมงทำงาน และให้ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้นก่อน” นายอมรเทพกล่าว

พร้อมกล่าวถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ดูได้ 2 ด้าน คือ การเติบโตของกำไร บจ. กับการเติบโตของรายได้ภาคเกษตร ที่มีส่วนต่างที่ห่างกัน หากขึ้นดอกเบี้ยเร็ว คนที่อ่อนแอกว่าจะอยู่รอดได้ลำบาก และหากปล่อยให้คนที่อ่อนแอแย่ คนที่เข้มแข็งก็ไม่อาจอยู่รอดได้

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ราว 459 บริษัท คิดเป็น 83% ของทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บจ.เหล่านี้สามารถทำยอดขายรวมได้ราว 5,884,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.01% โดยมีกำไรขั้นต้น 1,382,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.58% และมีกำไรสุทธิ 550,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิโดดเด่นยังเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ในตลาด

ทั้งนี้ บจ.มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 23.49% ส่วนด้านฐานะการเงินก็ยังแข็งแรง โดยสิ้น มิ.ย. 2561 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ทรงตัวเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 ที่ 1.15 เท่า

“ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมียอดขายเติบโตดีตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบซึ่งปรับสูงขึ้นมากกว่า 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 70 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ยกเว้นในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ผันผวนในช่วงต้นปี” นางสาวรุ่งทิพย์ เจริญวิสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 2 ตลท.กล่าวแต่ในช่วงครึ่งปีหลัง นางสาวรุ่งทิพย์เตือนว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยมีส่วนช่วยให้ยอดขายยังคงเติบโตได้ดี แต่ว่าทิศทางที่ไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน บจ.จึงควรระมัดระวังในการบริหารกิจการมากขึ้น

ท่ามกลางเสียงทุกฝ่ายเตือนให้รับมือ แต่ก็ยังมีแรงกดดันจาก กนง.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% คงต้อง “วัดใจ กนง.” ว่าจะชั่งน้ำหนักจะดูแลฝั่งที่อ่อนแอหรือฝั่งที่แข็งแรงของเศรษฐกิจกันแน่ หรือจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเลือกแก้ปัญหาคนรวยที่เก็งกำไรหาผลตอบแทนสูง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเปราะบางในระยะยาว