พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อส.ค. เพิ่มขึ้น 1.62% เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 1.62% เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน เป็นผลมาจาก อาหารสด และราคาพลังงงาน อย่างไรก็ดี คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2561 ยังคงอยู่ใน 1.2% ที่มองไว้ สะท้อนเศรษฐกิจยังเติบโต

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนสิงหาคม 2561 เท่ากับ 102.27 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้น 1.62% เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.26% และเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2561 (มกราคม –สิงหาคม ) เพิ่มขึ้น 1.12% อย่างไร ทั้งปี 2561 ยังมองเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1.2%

ทั้งนี้ สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2561 เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารสด 0.31% จากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน และยังได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของหมวดพลังงาน ที่เพิ่มขึ้น 9.05% สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21 โดยเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.75% และเฉลี่ย 8 เดือน เพิ่ม 0.71% สำหรับ ผลสำรวจพบว่าในเดือนสิงหาคม 2561 สินค้าที่สูงขึ้น ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.77% มาจากการสูงขึ้นของ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 4.26% ผักสด เพิ่ม 0.61% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.44% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.14%

ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.65% อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน เพิ่ม 0.71% และ 1.21% ส่วนผลไม้สด ลด 0.17% เนื้อสัตว์ ไก่และสัตว์น้ำ ลด 0.38% ขณะที่ สินค้าในหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 2.10% จากการสูงขึ้นของค่าพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 3.86% น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 12.03% ยาสูบและครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.86% เคหสถาน เพิ่ม 1.13% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.44% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.59% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.27%

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อ 8 เดือนที่เพิ่มขึ้น 1.12% ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อที่กำหนดไว้เป็นเดือนที่ 6 โดยกรอบ คือ 0.8-1.6% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด แต่หากมองในภาพรวม แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนอยู่ในเกณฑ์ดี การจัดเก็บรายได้เพิ่ม มีการเพิ่มกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น

Advertisment

สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อไปจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า ไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะเพิ่ม 1.5% จากปัจจัยราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยหลัก แต่เริ่มมีทิศทางทรงตัว ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อในส่วนของยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จะปรับตัวลดลง เพราะกันยายน 2560 ปีที่แล้ว มีการปรับขึ้นภาษี ทำให้ฐานสูงอยู่แล้ว เดือนต่อไปก็จะลดลง ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ 0.8-1.6%

นอกจากนี้ การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า เดือนสิงหาคม 2561 พบว่า รายการสินค้า 422 รายการ มีสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 226 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า กะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ซีอิ๊ว กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุมต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า บุหรี่ ส่วนสินค้าที่ลดลง 112 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร ไข่ไก่ ไก่สด น้ำมันพืช สับปะรด มะม่วง น้ำยาล้างห้องน้ำ ครีมนวดผม เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 84 รายการ