บสย.โล่งยอดเคลมหนี้เสียต่ำ รุกเชื่อมข้อมูลกรมบังคับคดี

บสย.ต่อท่อเชื่อมข้อมูลกรมบังคับคดี หวังอัพเดตข้อมูลลูกค้าถูกฟ้องล้มละลาย หวังไม่ให้ บสย.เสียสิทธิการตามหนี้ ชี้ไม่กระทบค้ำประกันเอสเอ็มอีรายใหม่ ชี้แนวโน้มแบงก์เคลมหนี้เสียลดลง คาดตลอดปี”61 ไม่เกิน 8 พันล้าน ต่ำกว่าที่คาดไว้ เหตุ บสย.ถกแบงก์ให้ประนอมหนี้ลูกค้าก่อน

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บสย.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายกับกรมบังคับคดี โดย บสย.จะใช้ฐานข้อมูลของกรมบังคับคดี เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงการตรวจสอบข้อมูลของบุคคลล้มละลายให้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาความสามารถในการทำนิติกรรมของลูกค้าต่อไป

โดยยืนยันว่าความร่วมมือในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการอนุมัติค้ำประกันให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากเดิม บสย.ก็มีฐานข้อมูลในการติดตามลูกค้าในลักษณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่หลังจากนี้จะมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

จตุฤทธิ์ จันทรกานต์

โดยปัจจุบันลูกค้า บสย.ที่เข้าข่ายเป็นบุคคลล้มละลาย มีอยู่ 1-2% ซึ่งเกิดจากลูกค้ามีปัญหาหนี้สินจนถูกธนาคารฟ้องล้มละลาย ในช่วง 1-3 ปี หลังจากได้รับอนุมัติค้ำประกันไปแล้ว โดยกระบวนการที่เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แล้วจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ช่วงเวลาดังกล่าว หากไม่มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอาจทำให้ บสย.เสียสิทธิในการยื่นขอชำระหนี้ล่วงหน้าได้

“เรามองว่าลูกค้าที่ บสย.ค้ำประกันต้องไม่เป็นบุคคลที่ล้มละลาย เนื่องจากตามกฎหมายลูกค้าที่เป็นบุคคลล้มละลายไม่มีสิทธิ์ทำนิติกรรม ซึ่งความร่วมมือกับกรมบังคับคดีจะเป็นการเชื่อมโยง อัพเดตข้อมูล รวมถึงเช็กข้อมูลลูกค้าได้โดยตรงว่า ลูกค้ารายใดบ้างที่ถูกพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย จากที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลของลูกค้าไม่มีการอัพเดตให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้นก็จะทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น เป็นการเติมความมั่นใจให้กับ บสย.”

สำหรับยอดเคลมหนี้เสียที่ บสย.ต้องจ่ายให้แก่สถาบันการเงินในปี 2561 นี้ ช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยตลอดปีนี้คาดว่ายอดเคลมหนี้เสียจะไม่เกิน 8,000 ล้านบาท จากที่คาดไว้ 9,000 ล้านบาท

“ยอดเคลมมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ๆ เนื่องจาก บสย.ได้เข้าไปคุยกับสถาบันการเงินให้ดำเนินการประนอมหนี้กับลูกหนี้ก่อน และจากการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของลูกค้าน่าจะอยู่ในภาวะขาขึ้น และภาพรวมของ บสย.ก็น่าจะดีขึ้นในปีนี้”

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังเพิ่งเริ่มโครงการ โดย บสย.ได้ทยอยลงนามกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ไปแล้ว และเริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ซึ่ง บสย.จะเร่งประชาสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ภาพรวมการค้ำประกันสินเชื่อปีนี้บรรลุเป้าหมายที่ 1 แสนล้านบาท