ธ.ก.ส.จับมือ 4 พันธมิตร ดันโครงการสนับสนุนสินเชื่อและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา

ธ.ก.ส. จับมือ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร ตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อยกระดับการผลิตและการบริหารจัดการที่ทันสมัย

วันนี้ (26 กันยายน 2561) ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วย “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)” ระหว่าง ธ.ก.ส. กับ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท ไทยเอส พี เอฟ โปรดักส์ จำกัด และระหว่าง ธ.ก.ส. กับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ สไวน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ไทยฟู้ดส์ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง จำกัด เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรสู่ความยั่งยืนและทันสมัย ยกระดับมาตรฐานคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรของประเทศ

นายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 ซึ่งสนับสนุนระบบการผลิตหรือการบริการทางการเกษตรระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ 10 รายขึ้นไปหรือกับสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีเงื่อนไขการผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิต หรือการบริการทางการเกษตร โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิตหรือจำหน่าย ตามจำนวน ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรก็ตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวพร้อมจ่ายค่าตอบแทนตามที่ได้ทำสัญญาไว้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากผู้ประกอบการที่ร่วมทำสัญญา เพื่อนำมาพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ในส่วนของ ธ.ก.ส. เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย และสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยเตรียมวงเงินไว้กว่า 2,000 ล้านบาท ตลอดจนให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวแก่เกษตรกร

ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะเข้าสำรวจเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งให้ข้อมูลแผนการผลิต การประมาณการจำนวนผลผลิตและระยะเวลาคืนทุน ความคุ้มค่าในการผลิต ภาระความเสี่ยง และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่เกษตรกร นอกจากนี้จะมีการจัดอบรมให้ความรู้ พร้อมวัดผลการผ่านเกณฑ์การอบรมให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกราย ตลอดจนจ่ายค่าตอบแทนแก่เกษตรกรตามข้อตกลงในสัญญา