ธปท.เตรียมประกาศเกณฑ์ประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform พร้อมเปิดให้ผู้สนใจยื่นเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ภายในสิ้นปีนี้

ธปท.เตรียมประกาศเกณฑ์ประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform พร้อมเปิดให้ผู้สนใจทำธุรกิจยื่นเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ภายในสิ้นปีนี้ คาดประกาศเกณฑ์พร้อมๆ กับเกณฑ์ “คราวน์ฟันดิ้ง” ของ ก.ล.ต.

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เป็นแนวปฏิบัติให้ผู้สนใจประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) ได้รับทราบ และสมัครเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นเมื่อทดสอบจนมั่นใจ ทั้งในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ตามปัจจัยชี้วัดความสำเร็จที่ต้องตกลงกับ ธปท. ก่อนเข้าแซนด์บ็อกซ์ได้แล้ว ก็จะสามารถออกจากแซนด์บ็อกซ์แล้วให้บริการในวงกว้างได้ต่อไป

“ธปท. จะกำหนดหลักเกณฑ์รองรับผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อมายัง ธปท. เพื่อขอเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. และเมื่อพร้อมให้บริการในวงกว้างแล้ว ธปท. จะเสนอ กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาตต่อไป” นางฤชุกรกล่าว

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58

ทั้งนี้ ธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ให้กู้ และผู้ขอกู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 75% และต้องมีทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ Peer-to-Peer Lending Platform ต้องจัดให้มีแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค และ มาตรการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น กระบวนการรู้จักลูกค้า การประเมินความเหมาะสม (client suitability) ของผู้ให้กู้ และการประเมินระดับความเสี่ยง (credit rating) ของผู้ขอกู้ เป็นต้น ซึ่ง ธปท. จะออกหลักเกณฑ์ในเร็วๆ นี้

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า Peer-to-Peer Lending Platform จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการให้ผู้กู้กับผู้ให้กู้มาพบกันผ่านแพล็ตฟอร์ม โดยคุณสมบัติผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดา อาจจะเป็นเอสเอ็มอี ที่มีการทำโครงการ และต้องการเงินทุน ก็ยื่นโครงการทำธุรกิจไปที่แพล็ตฟอร์ม ซึ่งแพล็ตฟอร์มก็จะสกรีนเบื้องต้นว่าโครงการเป็นไปได้แค่ไหน ขณะเดียวกันก็จะแสดงข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ที่จะให้กู้เห็น และเข้าไปดูได้ แล้วเมื่อผู้ให้กู้เข้ามาดู คิดว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ ก็สามารถให้กู้ยืมได้

“เป็นการแมตซ์กัน ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ ขณะเดียวกันแพล็ตฟอร์มที่เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้ให้กู้แล้ว ยังดูในเรื่องการทำสกอริ่ง คือประเมินผู้กู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ให้กู้ด้วย โดยแพล็ตฟอร์มจะไม่มีการแตะต้องเงิน แต่ผู้ให้กู้จะนำเงินไปไว้ที่เอสโครว์แอ็กเคาน์ ที่เป็นคนกลาง และเมื่อจำนวนเงินครบตามที่ผู้กู้ต้องการ ก็จะได้รับเงินไปจากคนกลางนี้ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันทุจริต หรืออาจจะมีข้อผิดพลาดขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้มาจากประเทศต่างๆ” นางสาวสิริธิดากล่าว

โดยอัตราดอกเบี้ยที่กู้ผ่านแพล็ตฟอร์มจะคิดได้ไม่เกิน 15% ส่วนการคิดค่าธรรมเนียม จะเป็นไปตามกลไกตลาด

นางสาวสิริธิดากล่าวอีกว่า สำหรับผู้ให้กู้ กรณีเป็นนักลงทุนรายย่อย สามารถให้กู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นกลุ่มไฮ-เน็ตเวิร์ธ จะไม่จำกัดวงเงินลงทุน (ให้กู้) ขณะที่ผู้กู้จะกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/โครงการ ซึ่งผู้กู้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีธุรกิจ เพราะต้องการให้เกิดประโยชน์ในแง่เป็นแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะปัจจุับนการให้กู้อุปโภคบริโภคมีช่องทางอื่นอยู่แล้ว เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้กู้ต้องไม่เอาโครงการเดียวกันไปยื่นกู้ในหลาย ๆแพล็ตฟอร์ม เพื่อป้องกันการได้รับเงินกู้เกินความต้องการ
นอกจากนี้ ผู้ให้กู้ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform อยู่แล้ว เพราะ ธปท.ไม่ต้องการให้แพล็ตฟอร์มเป็นผู้ให้กู้เอง

“ผู้ที่จะประกอบธุรกิจ P2P lending จะต้องยื่นขอเข้า ในแซนด์บ็อกซ์ก่อน เพื่อทดสอบว่ามีความพร้อมให้บริการในวงกว้างแค่ไหน โดยเกณฑ์ที่ ธปท.จะพิจารณา ก็จะมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี กระบวนการดูแลลูกค้า การรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) กระบวนการประเมินลูกค้า และกระบวนการทำสัญญาต่างๆ ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเราให้ความสำคัญกับกระบวนการเหล่านี้ เพราะว่าการให้กู้ลักษณะนี้จะทำบนแพล็ตฟอร์มที่ผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ได้เจอหน้ากัน รวมถึงการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ เราต้องดูให้มั่นใจก่อนจะมีการให้บริการในวงกว้าง” นางสาวสิริธิดากล่าว

นางสาวสิริธิดากล่าวด้วยว่า สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น สามารถทำธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform ได้โดยไม่ต้องมาขออนุญาต เพราะปกติก็ให้สินเชื่อได้อยู่แล้วด้วยไลเซ่นส์ที่มีอยู่ แต่ ธปท.จะมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติเป็นพิเศษต่างหาก อาจจะเป็นเรื่องรูปแบบจัดกระบวนการสินเชื่อ เพราะจะแตกต่างจากกระบวนการสินเชื่อปกติ ขณะเดียวกันการปล่อยกู้ช่องทางนี้ ไม่ได้ใช้ทุนตัวเองในการให้สินเชื่อ แต่จะเป็นการแมตซ์กันระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ จึงไม่ใช่การใช้เงินของธนาคารพาณิชย์ที่จะมาให้สินเชื่อ ดังนั้นการทำธุรกิจก็จะต่างไป

นางสาวสิริธิดากล่าวด้วยว่า การออกเกณฑ์ของ ธปท. จะออกมาควบคู่กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะเป็นผู้กำกับดูแลในส่วน P2P lending ที่ผู้กู้เป็นนิติบุคคล หรือในลักษณะคราวน์ฟันดิ้ง

“เรากำลังคุยกับ ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์พร้อม ๆกัน เพราะเป็น P2P lending เหมือนกัน” นางสาวสิริธิดากล่าว