“บล.เอเซีย พลัส” มองหุ้นไทย Q4/61 ผันผวนสูง ชี้สงครามการค้า-กำไร บจ.กดดันตลาด

บล.เอเซีย พลัส มองหุ้นไทย Q4/61 ผันผวนสูง ชี้สงครามการค้า-กำไร บจ.กดดันตลาด แต่ยังมีลุ้นดัชนีขึ้นแตะระดับ 1,790-1,848 จุด หากฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาชัดเจน ด้าน “ภรณี” คาด ระยะนี้คงยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เพราะราคาหุ้นไทยมีระดับ P/E ที่แพงกว่าเพื่อนบ้าน

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/61 นี้ คาดว่าตลาดจะแกว่งตัวผันผวนสูงอยู่ในกรอบ 1,620-1,733 จุด เนื่องจากจะมีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามา แต่เชื่อว่ายังมีช่องให้ดัชนีสามารถปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,790-1,848 จุดได้ หากเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนสูง รับปัจจัยลบที่ค่อนข้างยังมีน้ำหนักมากนั่นคือ สงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐกับจีน ยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลกระทบการค้าและเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปีนี้และปีหน้าแน่นอน ส่วนปัจจัยบวกได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้งในบ้านเรา” นางภรณี กล่าว

ขณะนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าขยายตัวเป็นวงกว้าง โดยพบว่ายอดวงเงินที่มีมาตรการกีดกันการค้าสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีมูลค่าการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลักดันให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐขยับขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะกระทบต่อการค้าโลกชัดเจนปลายปีนี้ และส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปี 62

ทั้งนี้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยิ่งเป็นการเร่งให้เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยตลาดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในปี 2562 และปี 2563 เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ แต่ บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่า กรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะหยุดไว้เพียงปี 62 เพราะการกีดกันการค้าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคการผลิตในวงกว้าง ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 62

นางภรณี กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) หลายแห่ง ซึ่งเกิดจากปัญหาพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาระหนี้ต่างประเทศ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย จึงกดดันให้ค่าเงินตกต่ำ เช่น ตุรกี, เวเนซุเอล่า, อาร์เจนติน่า เป็นต้น

ขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าติดต่อกัน 4 ปี ประกอบกับมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ยกเว้นบางประเทศ อาทิ อินเดีย ที่ยังมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานเกิน 13 ปี และขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน นอกจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ระดับต่ำ รวมถึงอินโดนีเซียที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันราว 6 ปี และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศต่ำ

“จากนี้ไปจึงต้องมีการเฝ้าสังเกตผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่าในช่วงนี้เป็นการเข้าสู่รอบปีที่ 10 นับจากเกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐเมื่อช่วงปี 51-52” นางภรณี กล่าว

นางภรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นไทย คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากกำไร บจ.งวดครึ่งปีแรกคิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปี 61 ตามที่ บล.เอเซีย พลัส จัดทำไว้อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 110.78 บาท/หุ้น แต่เมื่อพิจารณารายบริษัทแล้ว พบว่า บางบริษัทมีการบันทึกรายการพิเศษขนาดใหญ่, บางบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานต่ำกว่าคาด, บางบริษัทมีการเข้าไปซื้อกิจการส่งผลให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงจนกระทั่งกดดันกำไร

ดังนั้น บล.เอเซีย พลัส จึงได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ.ปี 61 ลงราว 2.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2.4% จากคาดการณ์เดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิของ บจ.ปีนี้ลดลงมาที่ 1.07 ล้านล้านบาท EPS Growth เติบโต 10.3% จากปีก่อน หรืออยู่ที่ 108 บาท/หุ้น

ขณะที่ในปี 62 ได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ.ลงเล็กน้อยราว 3.1 พันล้านบาท หรือ 0.27% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้คาดการณ์กำไร บจ.ปี 62 อยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 115.5 บาท เติบโต 6.9% จากปีนี้ แม้ว่า บล.เอเซีย พลัส ปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยลง แต่อัตราการเติบโตใกล้เคียงตลาดหุ้นภูมิภาค

ด้านทิศทางการไหลเข้าออกของเงินลงทุนต่างชาตินั้น นางภรณี ประเมินว่า ในระยะนี้คงยังไม่เห็นเงินทุนไหลเข้ามามากนัก แต่ก็คงไม่ได้ไหลออกไปมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินทุนต่างชาติไหลออกไปแล้วกว่า 5.5 แสนล้านบาท โดยที่เป็นการไหลออกของช่วงปีนี้ถึง 2 แสนล้านบาท เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ เนื่องจากราคาหุ้นมีระดับ P/E ค่อนข้างสูง และมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐยังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

ด้าน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ส่วนปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ การเมืองในประเทศที่คลี่คลายลง หลังมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ส.ว.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 61 ทำให้กำหนดการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น โดยการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในกรอบเวลา 240 วัน ซึ่งตามเงื่อนไขเวลาน่าจะเป็นไปได้ทั้งวันที่ 24 ก.พ.62 หรือวันที่ 31 มี.ค.62 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 พ.ค.62

“โดยภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจุบันถือได้ว่าความเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เกิดขึ้นนั้นน้อยลง จากนี้ไปการทยอยประกาศปลดล็อคทางการเมืองน่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป” นายเทิดศักดิ์กล่าว

แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่ยังผันผวนสูง ให้เน้นหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลดีจากกระแสเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/62 คือ หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้แก่ BJC, ADVANC, DTAC กลุ่มวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ได้แก่ DCC, SEAFCO, LPN ส่วนกลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ EASTW, BGRIM, RJH กลุ่มสื่อนอกบ้าน และมีเงินสดสุทธิ ได้แก่ MACO รวมถึงหุ้นส่งออกที่คาดกำไรโดดเด่นในไตรมาส 2/61 แต่ราคาหุ้นยัง Laggard ได้แก่ TU, CPF