ปิดหีบเงินคงคลังล้น 6 แสนล้าน ผลพวงห้ามกองทุนฝากแบงก์-เบิกจ่ายต่ำ

คลังเผยปิดหีบปีงบประมาณ 2561 เงินคงคลังทะลัก 6 แสนล้านบาท เผยกลับมาสูงระดับเดียวกับตอน คสช.เข้ามาปกครองประเทศปีแรก แจงสาเหตุจากนโยบายห้ามกองทุนนอกงบประมาณฝากแบงก์ โยกกลับมาเข้าเงินคงคลังกว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้ายิ่งดันเงินคงคลังพุ่ง แม้โยกไปกู้เหลื่อมปีที่แล้ว 5 หมื่นล้านบาทก็ตาม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้ตั้งวงเงินกู้เหลื่อมปีเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2561 จำนวน 50,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการกู้ในช่วงปีงบประมาณ 2562 แทน ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่เปิดทางให้ทำได้ จึงทำให้กระทรวงการคลังไม่ต้องกู้เงินปิดหีบโดยออกตั๋วเงินคลังจำนวน 80,000 ล้านบาท ตอนสิ้นปีงบประมาณเหมือนปีก่อน ๆ เพราะจะยิ่งทำให้เงินคงคลังตอนสิ้นปีงบประมาณสูงมากเกินจำเป็น

อย่างไรก็ดี สำหรับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 ปรากฏว่าสูงกว่า 600,000 ล้านบาท เท่ากับปีแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาปกครองประเทศ

“เงินคงคลังสูงกว่าปีก่อน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงการคลังมีการให้กองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ที่เป็นเงินนอกงบประมาณ นำเงินมาฝากไว้ในบัญชีเงินคงคลังแทนการนำไปฝากธนาคารพาณิชย์เพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งมีวงเงินราว ๆ 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าเป้าหมายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง โดยเป้าหมายเบิกจ่ายภาพรวมตั้งไว้ที่ 95% แต่เบิกจ่ายได้แค่ 92% เนื่องจากงบฯลงทุนเบิกได้ต่ำเป้าค่อนข้างมาก” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดเผยถึงแนวระดมทุนในปีงบประมาณ 2562 ว่า รัฐบาลมีความต้องการระดมทุนทั้งสิ้น 1,163,668 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินใหม่ ประกอบด้วยกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2562 จำนวน 450,000 ล้านบาท กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจากปีงบประมาณ 2561 จำนวน 50,000 ล้านบาท และกู้เพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ 92,353 ล้านบาท ส่วนวงเงินอีก 57,315 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม (rollover)

นางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 28 ก.ย. 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ต่ำกว่าปีก่อน 2.6% โดยปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ 94.6% ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 373,034 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.5% ต่ำกว่าปีก่อน 9.4% ซึ่งปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ 65.9%

ขณะที่ในส่วนของเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 215,098 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 323,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66.4%

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 กรมบัญชีกลางได้เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการซ้อมความเข้าใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดจัดการหาพัสดุไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุได้ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง

“หากหน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จะช่วยให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะให้แต่ละหน่วยงานตั้งคณะทำงานดูแลติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน และแจ้งปัญหาอุปสรรคเพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และส่งผลให้เม็ดเงินในการเบิกจ่ายช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย” นางญาณีกล่าว