ฟันธงปีหน้าศก.ไทยชะลอ สภาพคล่องตึงNPLวิ่งต่อ

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กูรูเศรษฐกิจชำแหละพิษ “เฟดขึ้นดอกเบี้ย-สงครามการค้า” กดเศรษฐกิจไทยปี”62 ชะลอตัว ส่งออกแผ่ว เตือนธุรกิจรับมือสภาพคล่อง “ตึงตัว” เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบจุดคุ้มทุน ฟันธงปีหน้ายากลำบากกว่าปีนี้ ย้ำความเสี่ยง “เอ็นพีแอล” ขาขึ้นตามหลอน

2 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเศรษฐกิจปีหน้ามี 2 ปัจจัยสำคัญ คือเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐมีความเคลื่อนไหว 3 ประเด็นหลัก 1.รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเป็น “เป็ดง่อย” เพราะพรรครีพับลิกันคงจะแพ้การเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้จะผ่านกฎหมายยากมาก 2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐด้วยนโยบายการคลังที่ลดภาษี และการใช้จ่ายของรัฐจะเริ่มแผ่วลงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะค่อย ๆ โตช้าลง และ 3.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 2.25% ปลายปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง และคาดว่าปีหน้าจะขึ้นอีก 3 ครั้ง หมายความถึงสิ้นปีหน้าจะขึ้นอีก 1% ซึ่งก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือว่ามีความสัมพันธ์ต่อประเทศอื่น ๆ

ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าส่วนใหญ่ตลาดทุนยังคาดการณ์ว่าทรัมป์จะถอยภายในต้นปีหน้า อันนี้ก็ต้องดูว่าจะเป็นจริงหรือเปล่า เพราะดูจากท่าทีฝ่ายความมั่นคงทางการค้าของทรัมป์ต้องการจัดการกับจีนแบบเบ็ดเสร็จ ให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถเทียบรัศมีเศรษฐกิจสหรัฐได้ ซึ่งจีนคงจะยอมไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเป็นปัญหาสงครามเย็นทางการค้าแบบยืดเยื้อ ในกรณีนี้จะสร้างความไม่แน่นอนอย่างมาก ทำให้การลงทุนชะงัก

การลงทุนทั่วโลกชะงัก

“เศรษฐกิจโลกช่วง 50 ปีที่ผ่านมาสร้างเป็นโกลบอล ซัพพลายเชน คือจะผลิตชิ้นส่วนที่ไหนก็ได้ในโลก ประกอบที่ไหนก็ได้ ค้าขายที่ไหนก็ได้ในโลก แต่สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำคือ ทำลายซัพพลายเชนของจีน ไม่ให้นักลงทุนไปลงทุนในจีน ซึ่งก็จะกระทบกับจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่” ดร.ศุภวุฒิกล่าวและว่า อย่างกรณีสหรัฐบรรลุข้อตกลงกับแคนาดา-เม็กซิโก (USMCA) แทนนาฟต้า ก็มีการเพิ่มเงื่อนไขเรื่องโลคอลคอนเทนต์จาก 63% เป็น 75% ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันซัพพลายเชนอื่น ซึ่งการพยายามเปลี่ยนหรือปิดกั้นซัพพลายเชนมันดิสรัปต์เศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนชะงักเพราะไม่รู้จะไปลงทุนที่ไหนดี ทำให้จีดีพีไม่โต การจ้างงานไม่เกิด ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ และสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าดูแย่และยาก และแน่นอนก็กระทบส่งออกไทยจากปีนี้โต 9% แต่ปีหน้าหลายสำนักคาดการณ์โต 4% กว่า ลดลงจากปีนี้กว่าครึ่ง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโตแผ่วลง

ส่งออกชะลอ-ดบ.ขาขึ้น

ดร.ศุภวุฒิอธิบายว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยมี 2 ประเด็นคือ 1.จะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวไหนมาทดแทนภาคการส่งออกที่จะโตลดลง และ 2.ธปท.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ไหน แต่ ธปท.อาจไม่ต้องเร่ง เพราะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ เงินเฟ้อยังไม่สูง ทำให้ไม่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ยกเว้นว่า ธปท.อยากขึ้นเอง เพราะจากความเห็นของ กนง. อยากขึ้นดอกเบี้ยมาก ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคือ กลัวว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงกว่าไทยมากเกินไป ส่วนตัวที่จะมาแทนภาคส่งออกที่ลดลงก็คือ โครงการเขตเศรษฐกิจ “อีอีซี”ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้โปรเจ็กต์สำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สำเร็จได้

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟออกมาพูดแล้วว่า ในการประชุมไอเอ็มเอฟสัปดาห์หน้าจะมีการปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจโลก จากเดิมที่ IMF คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกโต 3.9% ปีหน้าโต 3.9% เมื่อภาวะเศรษฐกิจโตช้าลง มาเจอกับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นก็สกัดดารา ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศมีปัญหา ทั้งเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย รูปีของอินเดีย ที่อ่อนค่าหนัก ต้องไล่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แอฟริกาก็มีปัญหาเพราะสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐทำให้สภาวะทางการเงินตึงตัวไปทั้งโลก เพราะทุกประเทศมีปัญหาต้องขึ้นดอกเบี้ย ถึงแม้ของไทย ธปท.ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของไทยขยับขึ้นแล้ว และ ธปท.ก็จะทำแมโครพรูเดียนเชียลควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ก็ทำให้การกู้เงินก็จะยากขึ้นอีก และสภาพคล่องที่ตึงตัวก็ทำให้ hurdle rate (บรรทัดฐานคำนวณความคุ้มทุน) สูงขึ้นก็จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนที่ยากขึ้น

เตือนเอ็นพีแอลขาขึ้น

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่การเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้แบงก์ชาติพูดมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า เอ็นพีแอลพีกแล้ว แต่จนถึงขณะนี้เอ็นพีแอลก็ยังไม่พีกและยังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งดอกเบี้ยขาขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจโตช้าลง หนี้เสียยิ่งเพิ่มขึ้น และจากปัญหาเอ็นพีแอลอสังหาฯ แบงก์ชาติออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ควรเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีใครอยากทิ้งบ้าน การเกิดขึ้นของเอ็นพีแอลอสังหาฯจึงเป็นเอ็นพีแอลที่น่ากลัวที่สุด

“เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกโตช้าส่งออกชะลอตัว ปัญหาหนี้เสียจะพีกได้ไง ปีหน้าจะเป็นปีที่ยากกว่าปีนี้”

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิยืนยันว่า ภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือว่าผ่านจุดพีกไปแล้วเมื่อช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตลดลง และโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นก็ต้องฝากความหวังโปรเจ็กต์การลงทุนของอีอีซี เพราะในภาคส่งออกแนวโน้มก็โตลดลง ส่วนหนึ่งเพราะปีนี้ฐานสูง