FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนลท. 3 เดือนข้างหน้า “ร้อนแรง” รับเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุจกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนตุลาคม 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) สูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา โดยผลสำรวจชี้ว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมืองอย่างการเลือกตั้ง และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนตุลาคม 2561 สรุปได้ดังนี้
– ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า(ธ.ค.61) เพิ่มขึ้นมาก อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) (ช่วงค่าดัชนี 120-160) เพิ่มขึ้น 12.01% อยู่ที่ระดับ 120.60
– ดัชนีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับเพิ่มจากการสำรวจครั้งก่อนขึ้นมาอยู่ที่ Zone ร้อนแรง
– ดัชนีกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ที่ Zone ร้อนแรง
– ดัชนีกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจแฟชั่น (FASHION)
– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การเมือง
– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ย.61 ช่วงต้นเดือนมีทิศทางปรับตัวลดลงจากความกังวลนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยดัชนีฯ ลดลงต่ำสุดที่ 1,672 จุด และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังร่างพรบ.เกี่ยวกับการได้ที่มาของสส.และสว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการผ่อนคลายเกณฑ์ในการทำกิจกรรมพรรคการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของวันเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า โดยดัชนีฯ ช่วงปลายเดือนเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,750 จุด จากแรกซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันในประเทศ”

ผลสำรวจทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนคือสถานการณ์ทางการเมือง การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นในภาคการท่องเที่ยว และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ และผลกระทบต่อเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนติดตาม

นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปภายหลังลดปริมาณ QE 1.5 หมื่นล้านยูโรในเดือน ต.ค.-ธ.ค. จากปัจจุบันที่เข้าซื้อ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และคาดว่ามาตรการ QE จะยุติในสิ้นปีนี้ รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราอกเบี้ยนโยบายของไทยช่วงสิ้นปี ภาวะเศรษฐกิจจีนและยุโรปจากผลกระทบของสงครามการค้า

Advertisment