ออมสินรุกเพิ่มแบงกิ้งเอเย่นต์ ดึง “ไปรษณีย์ไทย” 3 ปีเพิ่ม 10 ล้านบัญชี

ธนาคารออมสินขยาย “แบงกิ้งเอเย่นต์” ต่อเนื่อง รุกเจรจา “ไปรษณีย์ไทย” ทันทีหลังเพิ่งจับมือ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ไป ฉวยจังหวะแบงก์พาณิชย์ลดสาขา ตั้งเป้า 3 ปีลูกค้าเปิดบัญชีผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์เพิ่ม 10 ล้านบัญชี เชื่อลูกค้าคุ้มค่าแม้ถูกคิดค่าฟี 10-15 บาท ด้านไปรษณีย์ไทยพร้อมรับเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ให้ออมสินเป็นแบงก์ที่ 9

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังเจรจากับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ให้เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารเพิ่มเติมอีกราย หลังจากที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัทเคานต์เตอร์เซอร์วิสไปแล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนของไปรษณีย์ไทยนั้นยังพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ อยู่ รวมถึงต้องดูว่าต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกหรือไม่

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายว่า หลังจากมีแบงกิ้งเอเย่นต์ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ธนาคารออมสินจะมีจำนวนลูกค้าที่มาเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบัญชี หรือเพิ่มอีก 10 ล้านบัญชี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 20 ล้านบัญชี และตั้งเป้าหมายว่าลูกค้าธนาคารจะหันไปใช้บริการธนาคารออมสินผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ประมาณ 50% จากจำนวนลูกค้าธนาคารออมสินทั้งหมด

“เราเล็งเห็นว่า ลูกค้าใช้บริการแบงก์พาณิชย์ในปัจจุบัน แต่แบงก์พาณิชย์มีการลดจำนวนสาขาลง จะทำให้พื้นที่ให้บริการแก่ลูกค้าไม่เพียงพอ ดังนั้น หากลูกค้าเห็นว่า 7-eleven เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถฝากเงินและถอนเงินได้ ก็น่าจะทำให้ลูกค้าเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารออมสินมากขึ้น” นายชาติชายกล่าว

นายชาติชายกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในส่วนความร่วมมือกับเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะมีการยกระดับบริการในเฟส 2 โดยนำระบบคิวอาร์โค้ดมาช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งลูกค้าจะสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อฝากเงินและถอนเงินได้แบบไม่จำเป็นต้องใช้เลขที่บัญชี ทั้งนี้ จะเสียค่าธรรมเนียมราว 10-15 บาท/รายการ และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงเดือน ม.ค. 2562

“การคิดค่าธรรมเนียม 10-15 บาทไม่น่าเป็นประเด็น เพราะลูกค้าจะพิจารณาเลือกช่องทางที่ถูกที่สุดสำหรับตัวเอง หากประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อเทียบกับการเดินทางไกลไปที่สาขา” นายชาติชายกล่าว

ขณะที่นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า ธนาคารออมสินเพิ่งติดต่อเข้ามาว่าจะเข้ามาหารือกับบริษัท เพื่อให้ไปรษณีย์ไทยเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายเพราะปัจจุบันบริษัทก็รับเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ของสถาบันการเงินอยู่แล้ว 8 แห่งด้วยกัน อาทิ ธนาคารยูโอบี ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมาธุรกรรมดิจิทัลอาจจะยังไม่มาก แถมธนาคารออมสินกับไปรษณีย์ไทยเราจะโตมาคู่กันอยู่แล้ว ที่ไหนมีออมสินก็มีไปรษณีย์ ทำให้ก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่ค่อยเห็นความจำเป็น แต่ตอนนี้จะมีความร่วมมือกันด้านอื่น ๆ ด้วย เพราะไปรษณีย์เรามีช่องทางนำสินค้ามาขาย เราก็ทำโลจิสติกส์ให้” นางสมรกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมยังไม่ได้หารือกัน แต่ปกติไปรษณีย์จะมีอัตราค่าธรรมเนียมที่คิดอยู่แล้ว คือ 10-15 บาท/รายการ อย่างไรก็ดี ในเรื่องเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น วงเงินรับฝาก/ถอนเงินต่อครั้งจะเป็นเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งก็คงเป็นแนวทางเดียวกับแบงก์อื่น ๆ แต่ต้องขึ้นกับการเจรจาด้วย

“เรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมการเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ เรายังไม่ได้คาดหวังมากเพราะบริการตรงนี้ไม่ใช่ธุรกิจหลักของไปรษณีย์ เนื่องจากธุรกิจหลักเรา คือ ส่งของ โลจิสติกส์ ทำให้สัดส่วนรายได้ส่วนนี้มีแค่ 5% ของรายได้รวม ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับรายได้จากธุรกิจหลัก แต่ที่เราทำคือ เพื่อใช้เครือข่ายให้เกิดประโยชน์ เพราะไม่ได้เสียอะไร ที่สำคัญจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น” นางสมรกล่าว