ต่อยอดธุรกิจบริการ บนแพลตฟอร์มออนไลน์

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ทุกวันนี้เราได้เห็นแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้เรา ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยใช้แอปจากเทคสตาร์ตอัพกันมาบ้าง

จะเห็นว่าธุรกิจเทคสตาร์ตอัพส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาโมเดลธุรกิจดั้งเดิมแบบออฟไลน์ที่ตัวผู้ก่อตั้งเคยสัมผัสและมีประสบการณ์มาก่อน จึงมองเห็นและเข้าใจปัญหา แล้วนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไข ซึ่งนอกจากจะช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคแล้ว ก็ยังเน้นการสร้างความสะดวกสบาย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดเป็นสินค้าและบริการใหม่ ๆ ขึ้นมา ช่วยขยายฐานลูกค้าได้มากและรวดเร็วขึ้น

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการบริการ หันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสร้างยอดขายและพัฒนาธุรกิจกันมากขึ้น

โดยธุรกิจเทคสตาร์ตอัพที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยก็คือ Freshket ซึ่งเป็นตลาดสดออนไลน์ ที่เริ่มต้นมาจากการเป็นร้านค้าในตลาดไท จึงเข้าใจปัญหาของร้านค้าในตลาดและลูกค้าที่เป็นร้านอาหารเป็นอย่างดีว่าการสั่งซื้อของแต่ละครั้ง มีความยุ่งยากและเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง จึงมองเห็นโอกาสที่จะอุดช่องว่างแล้วยังช่วยอัพสเกลให้ธุรกิจได้ เกิดเป็นแพลตฟอร์มการสั่งซื้อของสดออนไลน์ขึ้นมา นั่นก็เพราะการฉลาดใช้เทคโนโลยี อย่างการใช้ดาต้าวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด หรือการเข้าใจว่าลูกค้าต้องการบริการที่ดีที่สุด จึงเน้นให้แอปใช้งานง่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือแม่บ้านในร้านก็สามารถสั่งผักผ่านแอปได้ โดยที่เจ้าของร้านเองก็รู้ข้อมูลการสั่งผักผ่านจอมือถือ ตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายแฮปปี้กันทุกคน

ปัจจุบันเทคสตาร์ตอัพด้านธุรกิจบริการในไทยนับว่าได้รับความนิยมมากที่สุด มาดูกันว่าธุรกิจบริการในด้านใดบ้างที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับแรก เผื่อเป็นไอเดียดี ๆ ให้ผู้ประกอบการได้ต่อยอดความคิดในการทำธุรกิจครับ

1) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค (lifestyle) เช่น บริการจองร้านอาหาร การสั่งอาหารดีลิเวอรี่ บริการเรียกรถแท็กซี่ บริการจัดหาแม่บ้านทำความสะอาด และบริการจัดหาช่างซ่อมบ้าน ซึ่งขยายตัวไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

2) ธุรกิจให้บริการทางด้านธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (FinTech) เช่น การชำระเงิน การกู้ยืมเงิน การระดมทุน เป็นต้น ซึ่งเทคสตาร์ตอัพกลุ่มนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามปริมาณธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น จากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์นั่นเอง

3) ธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการองค์กรทางออนไลน์ (enterprise) ซึ่งให้บริการลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ เช่น ระบบบัญชีออนไลน์ ระบบเสนอราคาซื้อขายสินค้า และระบบสำหรับการบริหารจัดการคลังสินค้า โดยกลุ่มนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การทำธุรกิจ

แต่จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและไม่มีความแน่นอน ทำให้ความนิยมแพลตฟอร์มหนึ่ง ๆ ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามกระแสเช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องเฟ้นหาไอเดียดี ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งควรเป็นไอเดียที่ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค และต้องรู้จักนำข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาล หรือที่เรียกว่า big data ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ บนออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะในยุคนี้ใครรู้จักลูกค้ามากกว่าก็สามารถครองใจลูกค้าได้มากกว่าเช่นกัน