แฉหุ่นยนต์ปั่นวอลุ่มเทรด DW กับดักลวงแมลงเม่า/ตลท.ยันกำกับเข้ม

โบรกเกอร์ชี้ช่องโหว่ “โรบอตฯ” ปั่น DW โยนวอลุ่ม “ซื้อขาย” ปริมาณเท่ากัน-ราคาเท่ากัน สร้างภาพลวงล่อแมลงเม่าติดกับดัก “วอลุ่มสูง” แนะวิธีสังเกตก่อนลงทุน ระวังติดกับดักก๊วนปั่นสร้างกระแส ฟากตลาดหลักทรัพย์ฯยันมีฝ่ายกำกับการซื้อขายดูแล

แหล่งข่าวนักลงทุนรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้พบความผิดปกติของการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่เกิดจากโรบอตเทรดดิ้ง หรืออาจรู้จักกันในชื่ออื่น ๆ เช่น Program Trading และ Algorithmic Trading ซึ่งเป็นการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการซื้อขายอัตโนมัติตามระดับราคา ปริมาณ (วอลุ่ม) และเงื่อนไขที่กำหนด

โดยพฤติกรรมผิดปกติที่พบคือ โรบอตฯได้เข้าไปซื้อ DW และขาย DW ตัวเดิมในราคาเดียวกัน และปริมาณเท่ากัน จนทำให้ DW ตัวนั้น ๆ เสมือนว่ามีปริมาณการซื้อขายคึกคัก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีความต้องการลงทุนในตราสาร DW ตัวนั้นจริง ซึ่งสังเกตได้จากราคาหุ้นแม่ (หุ้นอ้างอิงของ DW) ยังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือมีกระแสข่าวใด ๆ กระตุ้น

“ตอนที่ผมเจอ คือหุ้นแม่ไม่มีคำสั่งซื้อที่จับคู่กันได้เลย และราคาซื้อขายของหุ้นแม่ก็ถ่างด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่า DW ที่อ้างอิงกับหุ้นแม่ เทรดคึกคักกว่าหุ้นแม่ วอลุ่ม DW มากกว่าหุ้นแม่อีก ดังนั้นคำถามคือ คนทำได้อะไร ในเมื่อซื้อขายราคาเดียวกัน ในปริมาณเท่าเดิม แล้วยังต้องมาเสียค่าธรรมเนียม (คอมมิสชั่น) ซื้อขายไปกลับฟรี ซึ่งผิดธรรมชาติ ดูเหมือนจะไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่เดาได้อย่างหนึ่งว่า คนที่ทำได้ต้องค่าคอมถูกสุด ๆ แล้วใครล่ะในตลาดที่จะมีค่าคอมถูกสุด ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าการสร้างปริมาณการซื้อขายลวงดังกล่าว อาจเป็นการ “เรียกแขก” หรือกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขาย โดยเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุคที่ยังไม่มีโรบอตฯแล้ว แต่จะเป็นลักษณะของการช่วยเหลือกัน ระหว่างนักลงทุนรายใหญ่และโบรกเกอร์บางราย วิธีการคือ นักลงทุนรายใหญ่อาจจะประสานไปที่โบรกเกอร์ หรืออาจจะเป็นโบรกเกอร์ขอความช่วยเหลือมาที่นักลงทุนรายใหญ่ ให้ไปเทรด DW เพื่อสร้างปริมาณการซื้อขายให้ แต่ในสมัยนี้ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงมีการใช้โรบอตฯเข้ามาแทนการส่งออร์เดอร์ปกติ ก็ยังสามารถเอื้อผลประโยชน์กันได้อยู่ โดยอาจมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า กรณีที่นักลงทุนใช้โรบอตฯเข้ามาสร้างวอลุ่ม แต่ราคา DW ไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจจะอะลุ่มอล่วยให้ฟรีคอมมิสชั่น 0% แต่กรณีที่ตลาดพลิกทางก็ให้นักลงทุนเอากำไรไปได้

นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เคยพบกรณีการซื้อขายในลักษณะดังกล่าวมาก่อนแล้ว และคาดว่าน่าจะเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะกลยุทธ์การซื้อขายอย่างรวดเร็วโดยใช้โรบอตฯ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก ดังนั้นมุมมองส่วนตัวจึงคิดว่าอาจจะทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะโรบอตฯก็เปรียบเสมือนนักลงทุนรายหนึ่งเท่านั้น

นายบรรณรงค์ พิชากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า เคยเห็นพฤติกรรมดังกล่าวบนกระดานเทรด DW จริง ซึ่งไม่เหมือนลักษณะการซื้อขายเก็งกำไรตามปกติที่โรบอตเทรดดิ้งจะทำเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ดังนั้นนักลงทุนที่ซื้อขาย DW จึงอาจต้องสังเกตปริมาณการซื้อขายก่อนที่จะเข้าซื้อด้วยว่า มีความผิดปกติหรือไม่

นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาดและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดยังไม่พบความผิดปกติของการซื้อขาย DW แต่หากเกิดกรณีการซื้อขายผิดปกติจริง ฝ่ายกำกับการซื้อขายก็จะรับทราบเรื่องนี้แล้ว