เงินบาทแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณเติบโตได้ดี

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (31/10) ที่ระดับ 33.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย  โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ยอดเกินดุลมีมูลค่าอยู่ที่ 2.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จาก 0.75 หมื่นล้านเหรียญในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทยปรับลดลงที่ร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 ลดลงจากการขยายตัวที่ร้อยละ 24.2 ในปีก่อน

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ถึงแม้จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ตามการขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย อีกทั้งระหว่างวัน (1/11) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 102.63 ขยายตัวร้อยละ 1.23 จากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.3 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 102.29 ขยายตัวร้อยละ 0.75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อคืนที่ผ่านมา (31/10) ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคมจากระดับ 218,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.96-33.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 1.1332/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล๋็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/10) ที่ระดับ 1.1335/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังเมื่อคืนที่ผ่านมา (31/10) มีรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกเยอรมนีที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 2.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตรงข้ามกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 อีกทั้งหน่วยงาน Istat ได้เปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงานของประเทศอิตาลีประจำเดือนกันยายนซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 สูงขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ หน่วยงาน Eurostat ได้เปิดเผยว่าอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปประจำเดือนกันยายนออกมาอยู่ที่ร้อยละ 8.1 และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเปรียบเทียบรายปี ซึ่งทั้งหมดเท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1304-1.1388 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1380/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 112.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/10) ที่ 113.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าเมื่อวาน (31/10) ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มีมติให้คงนโยบายทางการเงินทั้งหมดไว้ดังเดิมตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ 43.0 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 43.5 นอกจากนี้ ยอดการเริ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นประจำเดือนกันยายน เปรียบเทียบรายปีปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.81-112.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ (1/11) รายงานสภาวะเงินเฟ้อโดยธนาคารกลางอังกฤษ (1/11) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (1/11) และ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (2/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.43/0.28 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ