ดอลลาร์ได้รับแรงกดดัน หลังเฟดผิดหวังกับอัตราเงินเฟ้อ

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม -18 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/8) ที่ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ ขยับอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ในช่วงวันศุกร์ (11/8) หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ทรงตัวในเดือนมิถุนายน ซึ่งแสดงถึงเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้นักลงทุนต่างขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐออกมา ก่อนที่วันจันทร์ (14/8) การแถลงการณ์ของนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งเขาได้กล่าวว่า เขาคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ และเฟดจะเริ่มต้นปรับลดปริมาณการถือครองตราสารหนี้ลงในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้ ถ้าหากการคาดการณ์ปรับตัวไปในแบบที่สอดคล้องกับความคาดหวังของเขา เขาก็จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในช่วงต่อไปในปีนี้ โดยถ้อยแถลงของนายดัดลีย์เรื่องภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น โดยถ้อยแถลงของเขาเป็นการตอบโต้ต่อการตั้งข้อสงสัยในระยะนี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมจริงหรือไม่ ในปีนี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง และตั้งเป้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง แต่หลังจากที่ภายหลังอัตราเงินเฟ้อร่วงลงสู่ระดับราว 1.5% เพียงในช่วงไม่กี่เดือน ซึ่งอยู่ห่างจากระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% และปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสเพียงราว 40% เท่านั้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ ส่วนอีกประเด็นที่ว่าเฟดวางแผนจะประกาศว่าจะเริ่มต้นปรับลดขนาดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ลงเมื่อใดนั้น เขาก็แสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะประกาศเรื่องนี้ในการประชุมช่วงเวลากลางเดือนกันยายน และเป็นที่คาดการณ์ว่าพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้จะมีขนาดหดเล็กลงสู่ 2.5-3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี โดยพอร์ตลงทุนดังกล่าวมีขนาดราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2007-2009 ในขณะที่ผลรายงานการประชุมเฟด ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดได้อภิปรายเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ โดยเจ้าหน้าที่บางคนได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเมื่อไม่นานนี้ พร้อมกับแสดงความเห็นว่า เฟดควรรอคอยให้สถานการณ์เงินเฟ้อส่งสัญญาณดีขึ้น ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป รายงานการประชุมเดือนกรกฎาคมยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่เฟดได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2560 โดยส่วนใหญ่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% ต่อไปอีกเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ในการประชุมกำหนดนโยบายทางการเงินในวันพุธ (16/8) ที่ผ่านมา โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาอาหารสดเป็นหลัก ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ทั้งนี้ในตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.21-33.32 บาท/ดอลลารร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดในวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 33.21-33.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) ที่ระดับ 1.1786/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/8) ที่ 1.1820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลสำรวจระบุว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะประกาศปรับเปลี่ยนโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนกันยายน โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าอีซีบีจะเริ่มต้นปรับลด QE เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นมาจากการที่เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโต ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่านายมาริโอ ดรากี อาจจะส่งสัญญาณการปรับลดวงเงินดังกล่าว ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่จะมีขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า (15/8) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.7% ทั้งนี้รายงานยังระบุว่า ปัจจัยที่ช่วยให้ GDP ขยายตัวในไตรมาส 2 นั้น มาจากอุปสงค์ภายในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าที่อ่อนแรงลงได้สลัดแรงบวกของ GDP และส่งผลให้ GDP ในไตรมาส 2 ขยายตัวน้อย ในขณะที่สมาคมยูโรสเตท เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในแถบยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% จาก 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของสภาวะเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีรายงานการประชุมนโยบายทางการเงินครั้งล่าสุดยังคงระบุว่า คณะกรรมาธิการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาค ภายหลังจากที่ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1662-1.1793 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 1.1732/1.1733 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันอังคาร (15/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/8) ที่ระดับ 109.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง หลังจากที่สถานการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือ และสหรัฐ ดูคลี่คลายลง อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองสหรัฐ นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ระดับ 4.1877 แสนล้านเยนในเดือนกรกฎาคม (3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้รับแรงหนุนจากยอดส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.4% ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.97-110.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 109.03/109.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ