ธพส.เร่งเดินหน้า โครงการศูนย์ราชการโซน C หลัง ครม.ไฟเขียว วงเงิน 3 หมื่นล้าน

แฟ้มภาพ

ธพส.เร่งเดินหน้า โครงการศูนย์ราชการโซน C หลัง ครม.ไฟเขียว วงเงิน 3 หมื่นล้าน เตรียมออกแบบรายละเอียดโครงการฯ คาดเริ่มก่อสร้างอาคารได้ปี 62 หวังเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการประชาชน รองรับการปฏิบัติราชการเพิ่มขึ้น

นายอำนวย ปรีนวมวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ดำเนินการพัฒนาพื้นที่โซน C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (26 พ.ย.) โดยมีพื้นที่ จำนวน 81 ไร่เศษ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้สอย 660,000 ตารางเมตร และพื้นที่เช่า 510,000 ตารางเมตร วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อก่อสร้าง 22,000 ล้านบาท ค่าเช่าพื้นที่ 6,500 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่นๆ 1,500 ล้านบาท คาดว่าในระยะต่อไป ธพส.จะดำเนินการจัดจ้างงานออกแบบรายละเอียดสำหรับก่อสร้างโครงการดังกล่าว ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างอาคารได้ภายใน ปี 2562 หลังจากนั้นจึงจะส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่อให้หน่วยงานเข้ามาใช้พื้นที่อาคารในปี 2565

“ในส่วนของการผูกพันงบประมาณ กรมธนารักษ์จะขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพื่อจัดทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารกับ ธพส. แทนทุกหน่วยงานในโครงการ” นายอำนวยกล่าว

สำหรับพื้นที่โซน C จะเชื่อมโยงกับพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เดิม (โซน A และโซน B) โดยมุ่งเน้นการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ ไม่น้อยกว่า 40% รวมถึงจัดให้มีบริการรถรับ-ส่ง อย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ข้าราชการและผู้มาติดต่อมีความสะดวกสบายในการใช้บริการแต่ละหน่วยงานได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับการปฏิบัติราชการที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการการให้บริการประชาชน ตลอดจนช่วยลดภาระงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐจากการเช่าพื้นที่ของเอกชน สำหรับใช้เป็นพื้นที่ทำการของหน่วยงานหรือสำนักงาน

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ กรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานแจ้งความประสงค์ขอรับการจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์ราชการ ประมาณ 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศาลปกครองสูงสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)