ธสน.ต่อสายป่านคู่ค้าธุรกิจ ปักหมุด สนง.ตัวแทน เวียงจันทน์

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา - อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ภายใต้การนำของ “พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการธนาคาร ปักธงเดินหน้าเปิดสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มาตั้งแต่ปีก่อน

โดยเมื่อปีที่แล้ว (2560) ได้ประเดิมเปิดสำนักงานผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ไปเป็นแห่งแรก กระทั่งผ่านมาอีก 1 ปีเศษ จึงได้ฤกษ์เปิดสำนักงานผู้แทนในกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ในฐานะประธานพิธีเปิด กล่าวว่า ประเทศไทย และ สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ด้านการเงิน และด้านพลเมือง โดยปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ อยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของ สปป.ลาว

ขณะที่นักลงทุนไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 3 ที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 1 จาก สปป.ลาว และมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกที่สนับสนุนให้ สปป.ลาว สามารถระดมทุนนอกประเทศได้สำเร็จด้วยการอนุญาตให้ออกขายพันธบัตรสกุลเงินบาท มาตั้งแต่ปี 2556

อย่างไรก็ดี ขุนคลังยังได้มอบนโยบายให้ ธสน. เพิ่มภารกิจการเป็น “ทูตมิตรภาพทางเศรษฐกิจ” ด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูลด้านการค้า การลงทุน และกฎระเบียบต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ กระตุ้นให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น

“ภารกิจของ ธสน.ใน สปป.ลาว จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย และ สปป.ลาวมั่นคงและยั่งยืน” รมว.คลังกล่าว

ขณะที่ “พิศิษฐ์” เล่าว่า ที่ผ่านมา ธสน.ได้สนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่โครงการต่าง ๆ ใน สปป.ลาว รวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนน โรงไฟฟ้า ซึ่งบางส่วนเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยด้วย และอีกหลายโครงการในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ซึ่งการมีสำนักงานผู้แทนใน สปป.ลาว จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้น หรือขยายการค้าการลงทุนใน สปป.ลาวได้อย่างประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีแบงก์ให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูลการค้าการลงทุน โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ สปป.ลาวเป็นประเทศที่มีประชากร 7 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่สุดใน CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) และไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่เป็นประเทศที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในช่วงปี 2561-2565 ราว 7% ต่อปี สูงที่สุดในกลุ่ม และสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

“สปป.ลาวมีจุดแข็งเรื่องพรมแดนที่ติดกับ CMVT และจีน ทำให้ สปป.ลาว เป็นประตูเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงาน เส้นทางคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการค้าของภูมิภาค ซึ่งในการเปิดสำนักผู้แทนใน สปป.ลาวครั้งนี้ เราถือโอกาสเข้าพบลูกค้า คือ บริษัท เอเชีย น้ำประปา หลวงพระบาง จำกัด ที่เป็น 1 ในเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับสัมปทานผลิตน้ำประปาใน สปป.ลาว โดย ธสน.สนับสนุนเงินกู้ให้จำนวน 70 ล้านบาท” นายพิศิษฐ์กล่าว

สำหรับความสนใจทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยใน สปป.ลาวนั้น “พิศิษฐ์” ระบุว่า มีผลตอบรับที่ดี จากการที่ ธสน.มุ่งเน้นการปล่อยกู้แก่ธุรกิจหลัก อย่างโรงไฟฟ้าที่มีการขายไฟฟ้ากลับไปยังไทยแล้ว ยังสนับสนุนกลุ่มธุรกิจอื่นที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปตั้งที่ สปป.ลาว เช่น เสื้อผ้า อาหารเสริม-อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

“ปี 2562 ธสน.ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อใน สปป.ลาวเพิ่มขึ้น 10-20% ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่เรามั่นใจว่าน่าจะช่วยเขาได้ โดยจะสนับสนุนเป็นจำนวนรายที่มากขึ้น” นายพิศิษฐ์กล่าว

เอ็มดี ธสน.บอกว่า หลังจากนี้ เตรียมแผนเปิดสำนักงานผู้แทนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อไปเปิดสำนักผู้แทนในประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าอาจจะเปิดได้ในช่วงปลายปี 2562 หรือในปี 2563 ขณะเดียวกันในส่วนของการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ (new frontiers) ก็อยู่ระหว่างการศึกษาถึงการไปเปิดสำนักงานผู้แทนในอีก 2 ประเทศ คือ อินเดีย และแอฟริกาใต้

นับเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลา เพราะแต่ละประเทศก็มีโจทย์ยากง่ายต่างกันไป แต่ ธสน.ก็ต้องฝ่าฟันทำให้สำเร็จให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!