ธปท.งัดเกณฑ์คุมโมบายแบงกิ้ง เร่งออกในครึ่งปีแรก-เข้มดูแลสิทธิผู้บริโภค

ธปท.เล็งคลอดเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักต์คุม “โมบายแบงกิ้ง” ในช่วงครึ่งปีแรก เหตุคนแห่ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแซงหน้าสาขา ยันยึดสิทธิผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง ชี้ต้องให้ข้อมูลลูกค้าในการ “คลิก” เพื่อใช้บริการต่าง ๆ บนแอปพลิเคชั่นอย่างชัดเจน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในครึ่งปีแรกของปี 2562 นี้ ธปท.จะต้องออกเกณฑ์กำกับดูแลการให้บริการ “โมบายแบงกิ้ง” ที่มีความชัดเจนทันสมัยมากขึ้น ในแง่ที่ว่าสถาบันการเงินผู้ให้บริการจะต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรบ้าง อาทิ เรื่องการให้ความยินยอมให้ข้อมูลต่อสถาบันการเงินของผู้บริโภค ที่ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้วยว่า หากยินยอมแล้วจะได้รับผลอย่างไร เป็นต้น

“อย่างเรื่องการให้ความยินยอมที่จะให้ข้อมูลต่อสถาบันการเงิน ก็ต้องมีกติกาว่า การยินยอมนั้น ต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยว่า ผลกระทบ ผลประโยชน์คืออะไร หรือการจะไปเชื่อมโยงกับการบริการด้านอื่น ๆ ซึ่งบางทีผู้บริโภคมีการไปคลิกใช้บริการบางอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ ตรงนี้ก็ต้องให้เกิดความแน่ชัดขึ้น เพราะว่าเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์จะอยู่บนบริบทที่ว่าสิทธิของผู้บริโภคต้องเป็นตัวตั้ง” นายรณดลกล่าว

ทั้งนี้ หลักการสำคัญในการออกเกณฑ์ดังกล่าว ก็คือ ผู้บริโภคต้องมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะรับ หรือไม่รับบริการบนโมบายแบงกิ้งได้ โดยช่วงที่ผ่านมา บางครั้งผู้ใช้บริการมีการคลิกปฏิเสธให้ความยินยอมในบางเรื่องไป แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการมาถามอีกว่า จะยินยอมใช้บริการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งบางทีผู้บริโภคคลิกอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะเผลอยินยอมไปแบบไม่ตั้งใจก็เป็นได้

“พยายามจะออกให้ได้ภายในครึ่งปีแรก เพราะว่าฐานของโมบายแบงกิ้งก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทุกวันนี้คนก็พึ่งพาโมบายแบงกิ้งมากกว่าสาขา ดังนั้นการที่เราทำมาร์เก็ตคอนดักต์ บอกให้พนักงานสาขาไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับสิทธิของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการใช้โมบายแบงกิ้งก็ต้องทำให้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน” นายรณดลกล่าว

Advertisment

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะออกมาจะเป็นแพ็กเกจที่เกี่ยวกับโมบายแบงกิ้ง แอปพลิเคชั่น โดยมีทั้งแนวปฏิบัติ และบทลงโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามด้วย อาทิ การคิดค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพื่อลงโทษกรณีที่มีการลิดรอนสิทธิผู้บริโภค

รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในการกำกับดูแลด้านมาร์เก็ตคอนดักต์ ธปท.ยังต้องเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากปัจจุบันการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น (cross selling) ไม่ว่าจะเป็นการขายประกัน ขายการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือการลงทุนในกองทุนรวม ที่ทำผ่านสถาบันการเงิน

“ถ้าผู้บริโภคที่ใช้โมบายแบงกิ้ง แล้วไปคลิกการลงทุน หรือซื้อประกันโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะเหมือนกับถูกบังคับขายประกันบนสาขา ดังนั้นการทำเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ก็ต้องทำร่วมกันกับหน่วยงานเหล่านี้ เพราะมาร์เก็ตคอนดักต์ที่เกิดขึ้นก็มาจากการขายโปรดักต์ที่มีการเชื่อมโยงกัน โดยเทคโนโลยีก็ทำให้มาร์เก็ตคอนดักต์มีความสลับซับซ้อนขึ้น และตอบโจทย์ยากขึ้น” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าว

 

Advertisment

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!