กรมศุลฯ ดึงผู้นำเข้า/ส่งออกจ่ายภาษีผ่าน “Bill Payment” หวังลดการใช้ “เช็ค” เดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด

กรมศุลฯ ดึงผู้นำเข้า/ส่งออกจ่ายภาษีผ่าน “Bill Payment” หวังลดการใช้ “เช็ค” เดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด จากปกติใช้เช็คตกปีละ 7-8 หมื่นใบ พร้อมโชว์ผลเก็บรายได้ไตรมาสแรกทะลุเป้า 8.9% เหตุนำเข้ารถยนต์พุ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลฯ ได้พัฒนาการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบิลเพย์เม้นต์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการนำเข้า/ส่งออก สามารถชำระค่าภาษีอากรผ่านธนาคารได้หลายช่องทาง ทั้งอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง, โมบายแบงกิ้ง ATM รวมทั้งการชำระผ่านตัวแทนรับชำระ ขณะเดียวกันยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้เองที่สถานประกอบการ ผ่านระบบการติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากร (e-Tracking) โดยไม่ต้องมารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทางและ เสียค่าธรรมเนียมในการชำระเงินถึง 40 บาทต่อครั้ง

“ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการที่มาชำระเงินที่กรมศุลฯ 45% ของจำนวนผู้มาเสียอากรทั้งหมด หากเปลี่ยนมาใช้ระบบบิลเพย์เม้นต์ จะเป็นการลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการและผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้กรมศุลกากร สามารถรับชำระค่าภาษีอากร และรายได้อื่นๆ ผ่านระบบอีเพย์เมนท์ได้ 100 % พร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป” นายกฤษฎากล่าว

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2562 ช่วง 3 เดือนแรก (ต.ค.-ธ.ค.2561) กรมจัดเก็บรายได้ 2.63 หมื่นล้านบาท เกินเป้า 8.9% และ สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1% คาดว่าทั้งปีจะสามารถจัดเก็บรายได้เกิน 1 แสนล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการนำเข้ารถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กรมศุลกากรได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมศุลกากร โดยให้ผู้นำเข้า/ส่งออกสามารถชำระผ่านช่องทางการให้บริการของะนาคาร หรือตัวแทนรับชำระ (บิลเพย์เม้นต์) ได้ ตามนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศเพื่อให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

Advertisment

“เดิมผู้ประกอบการเวลาจะชำระค่าภาษีอากรให้กรม จะต้องไปติดต่อซื้อเช็คจากธนาคาร แล้วก็นำเช็คมาให้กรมเพื่อเสียภาษี แต่ตอนนี้มีระบบบิลเพย์เม้นต์ที่ให้ชำระที่ธนาคาร อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ผ่านเคานท์เตอร์เซอร์วิสได้ ก็จะช่วยลดการใช้เช็คลงไปได้มาก จากปัจจุบันต้องใช้เช็ก 7-8 หมื่นใบ/ปี จากจำนวนใบขนสินค้าที่มีปีละ 6 ล้านฉบับ ซึ่งชำระด้วยเช็คประมาณครึ่งหนึ่ง” นายชัยยุทธกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมศุลฯ ได้จัดสัมมนา “Customs 2019 – The Next to Beyond” เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้า/ส่งออก รับทราบถึงมาตรการใหม่ ๆของกรมศุลฯ ที่อำนวยความสะดวกในการทำพิธีการศุลกากร ซึ่งนอกจากการชำระค่าภาษีอากรผ่าน e-Payment แล้ว ยังมีระบบติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากรทางอินเตอร์เน็ต (e-Tracking)

ทั้งนี้ ธนาคาร และ ผู้ให้บริการอื่นที่ให้บริการชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยช่องทางบิลเพย์เม้นต์ ปัจจุบันมี 5 ราย ได้แก่ 1) ธนาคารกรุงไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2562 เป็นต้นไป 2) ธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2562 เป็นต้นไป 3) ธนาคารกสิกรไทย กับ 4) เคาน์เตอร์เซอร์วิส จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2562 เป็นต้นไป และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.2562 เป็นต้นไป

Advertisment