ดอลลาร์อ่อนค่า หลัง IMF ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 23 มกราคม 2562 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 31.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (22/1) ที่ระดับ 31.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังจาก IMF ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.5% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าระดับ 3.7% สำหรับทั้ง 2 ปีที่มีการคาดการณ์ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว

โดย IMF เตือนว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากการที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก ขณะเดียวกันดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองดิ่งลง 6.4% สู่ระดับ 4.99 ล้านยูนิตในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยยอดขายถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน รวมทั้งการขาดแคลนที่ดินและแรงงาน นอกจากนี้ ภาวะการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) ก็ยังคงยืดเยื้อซึ่งขณะนี้ทำสถิติยาวนานเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากสื่อรายงานว่าทำเนียบขาวได้ปฏิเสธแผนการจัดการเจรจาการค้ากับจีนในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม นายแลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวของสหรัฐได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว และย้ำว่า การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งคณะผู้แทนเจรจาการค้าของจีนนำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดพบหารือกับนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเชอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคมนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.70-31.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.74/31.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 1.1364/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/1) ที่ระดับ 1.1362/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากความเสี่ยงกรณี Brexit โดยความคืบหน้าล่าสุดสหราชอาณาจักรอาจเลื่อนการออกจากยุโรปออกไปเพื่อเลี่ยงการไม่มีข้อตกลง โดยนายจอหน์ แมค ดอนแนลกล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนการเลื่อนการออกจากยุโรปออกไปจากวันที่ 29 มีนาคม หากว่านางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่สามารถหาข้อตกลงได้ ขณะเดียวกันนายจอร์จ ออสบอร์น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคลังอังกฤษเผยก็เผยเช่นกันว่า มีแนวโน้มสูงที่ Brexit จะล่าช้าออกไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1354-1.1372 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1360/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 53/55 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/1) ที่ 109.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไว้ใกล้กับระดับศูนย์ ทั้งนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงได้รับแรงผลักดันให้เคลื่อนตัวสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงขาลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.54-109.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน ม.ค.จากเฟดสาขาริชมอนด์ (23/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (24/1) และดัชนีผู้จัดการรฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต, ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ม.ค.จากมาร์กิต (24/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.9/1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code