เปิดแพ็กเกจอุ้มเอสเอ็มอี อัดดบ.ต่ำ-ประกันสินเชื่อ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“กอบศักดิ์” ถกคลังเคาะงบฯอุดหนุนจัดแพ็กเกจ “เอสเอ็มอี พริวิเลจ”ดึงเอสเอ็มอียอดขายไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อเดือน ราว 3 ล้านรายเข้าระบบ เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ พร้อมอัดสิทธิประโยชน์เต็มที่ ทั้ง “ค้ำประกันสินเชื่อ-ดอกเบี้ยต่ำ-คืนภาษีเร็ว”แบ่งเป็น 3 กลุ่มให้การช่วยเหลือเป็นขั้นบันได
แพ็กเกจ “เอสเอ็มอี พริวิเลจ”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลเตรียมออกแพ็กเกจจูงใจธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ “เอสเอ็มอี พริวิเลจ” โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากที่เคยได้รับ คาดว่าได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้ ตามขั้นตอนมีการหารือกับกระทรวงการคลังก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

มาตรการนี้ทำให้รัฐมีฐานภาษีกว้างขึ้นในระยะยาว ดังนั้น รัฐจะใช้งบประมาณอุดหนุนหรือชดเชยในส่วนที่จำเป็น เพื่อจูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2-3 ล้านราย แต่เข้าระบบน้อยมาก ทำให้กระบวนการส่งเสริมต่าง ๆ มีอุปสรรค ต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และกองทุนต่าง ๆ จับมือกันทำแพ็กเกจนี้ขึ้นมา จากเดิมต่างคนต่างทำในส่วนของตนเอง ทำให้ไม่เกิดพลังเท่าที่ควร

“แนวทางจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบเป็นขั้นบันได ค่อย ๆ หล่อเลี้ยงเขาขึ้นมา จูงใจให้เขาอยากเข้าสู่ระบบตามกฎหมาย จากเดิมเอสเอ็มอีมักมีคำถามเข้าระบบทำไม เข้าแล้วต้องเสียภาษี ต้องทำอะไรอีกเยอะแยะ ซึ่งได้อธิบายแล้วถ้าเข้าระบบรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์และดูแลเป็นพิเศษ”

แบ่งเอสเอ็มอีเป็น 3 กลุ่ม

แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เอสเอ็มอีขนาดใหญ่ยอดขาย 3-5 ล้านบาท/เดือน, ขนาดกลาง 1-3 ล้านบาท/เดือน และขนาดเล็กยอดขายไม่เกิน 1 ล้านบาท/เดือนโดยเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จุดเน้นคือเอสเอ็มอีต้องเข้าระบบและทำบัญชีเล่มเดียว

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สิทธิประโยชน์อันดับแรกที่เอสเอ็มอีต้องการมากที่สุดคือ “สินเชื่อ” โดยรัฐดูแลเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อผ่าน บสย. เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ที่สำคัญต้องได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ

งัดมาตรการภาษีดึงตั้งนิติบุคคล

นอกจากนี้ มีการจูงใจทางด้านภาษี รูปแบบเดียวกับกรมสรรพากรเคยจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาหันมาจดทะเบียนนิติบุคคลแทน แต่ครั้งนี้จะทำเป็นมาตรการระยะยาวต่อเนื่องไปเลย ไม่ใช่แบบปีต่อปี

“เราไม่ปล่อยเอสเอ็มอีเติบโตแบบตามมีตามเกิด แต่จะส่งคนเข้าไปช่วยอนุบาลแล้วปั้นให้เป็นดาว เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่ระหว่างที่ปั้นเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ก็ให้เข้าระบบให้เรียบร้อย ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นจะได้รับเป็นสิทธิประโยชน์กลับคืน” รมต.ประจำสำนักนายกฯกล่าว

ธพว.ชูเอสเอ็มอีกู้ดอกเบี้ย 1%

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธพว. กล่าวว่า คนที่เข้าสู่ระบบมีต้นทุนถูกกว่าคนที่ไม่เข้าระบบ ซึ่งการเข้าระบบไม่ใช่แค่เรื่องภาษี แต่การทำธุรกิจต้องอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) เช่น การยื่นเอกสารภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เป็นต้น

“ปีนี้ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ภาคเอกชนเตรียมเสนอให้ไทยเป็นดิจิทัลเทรด ดังนั้น ใครเข้าระบบก่อนก็ได้เปรียบ เรื่องทำบัญชีเดียว ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องการภาษี แต่เป็นสัญลักษณ์ว่าคุณกำลังเข้าสู่การค้ายุคใหม่ การค้าระบบใหม่ ซึ่งเป็นระบบที่ภาษีต่ำและคืนเร็วเกิดประสิทธิภาพทำให้ต้นทุนต่ำลงไปด้วย” นายมงคลกล่าว

สำหรับเป้า ธพว. ภายในสิ้นปี 2562 จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้านิติบุคคลในพอร์ตเป็น 70% จาก 40% มาตรการจูงใจเช่น นิติบุคคลกู้ดอกเบี้ย 1% (สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0) เทียบกับบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ย 5% เป็นต้น

ถกขุนคลังเคาะงบฯอุดหนุน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิประโยชน์ที่จะให้กับเอสเอ็มอีเข้าระบบ มี 4 ส่วนหลัก คือ 1) การเข้าถึงสินเชื่อโดยให้ บสย.เข้ามาค้ำประกัน รัฐยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% 2) ดอกเบี้ยต่ำ 3) รัฐช่วยค่าจ้างทำบัญชี ซึ่งต้องทำบัญชีเล่มเดียว และ 4) การคืนภาษีที่รวดเร็ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!