สรรพากร เผยไตรมาสแรกปีงบ 62 จัดเก็บรายได้เกินเป้า 7% คาดผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านออนไลน์ ปี”62 เพิ่มขึ้น 90%

สรรพากร เผยไตรมาสแรกปีงบ 62 จัดเก็บรายได้เกินเป้า 7% คาดผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านออนไลน์ ปี 62 เพิ่มขึ้น 90% พร้อมขยายเวลาถึง 9 เม.ย.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สำหรับแผนการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท โดยช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค.2561 สามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ อยู่ที่ 27,000 ล้านบาท หรือ 7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท หรือ 11% สาเหตุที่สรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าในช่วงที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2562 นั้น มาจากการเก็บภาษีหลายๆส่วน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

“ในปีงบประมาณ 2563 ได้ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2562 เราจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าที่เขาตั้งไว้ เนื่องจากเป็นการจัดเก็บรายได้จากฐานรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบ้างแล้ว โดยเริ่มจากการประเมินแยกข้อมูลของผู้ประกอบการที่เสียภาษีดีและไม่ดี”

สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 ปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษี ภ.ง.ด.91 ราว 700,000 คน โดยมีผู้ได้รับเงินคืนแล้ว 400,000 คน คิดเป็น 55% ของจำนวนผู้ยื่นภาษีทั้งหมดจำนวน 10-11 ล้านคน ขณะเดียวกันมีผู้ยื่นเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์ อยู่ที่ 85% คาดว่าภายในปี 2562 จะมีผู้ยื่นเสียภาษีฯผ่านระบบออนไลน์ อยู่ที่ 90%

“เราจะขยายเวลาการยื่นเสียภาษีดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์ถึงวันที่ 9 เม.ย. นี้ จากระยะเวลาเดิมที่กำหนดการยื่นภาษีได้ถึง 31 มี.ค.นี้ เราอยากให้เขาทยอยยื่นภาษีฯได้เลย โดยการคืนเงินภาษีในปีนี้จะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องผูกบัญชีผ่านพร้อมเพย์ หากผู้ที่มีบัญชีเงินฝากผูกบัญชีผ่านพร้อมเพย์สามารถได้เงินคืนทันทีและรวดเร็วมากขึ้น”

ปีภาษี 2561 มีผู้ยื่นภาษีภงด.91 สามารถคืนเงินได้55% หรือ4แสนคน จากผู้ยื่นภาษีโดยมีผู้ยื่นเสียภาษีทางออนไลน์ 85% คาดว่าปีนี้อยากให้มีผู้คนยื่นเสียภาษีออนไลน์ให้ได้ 90% โดยจะขยายเวลาการเสียภาษีนี้ถึง 9เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ทันคงต้องเสนอกฎหมายดังกล่าวในรัฐบาลหน้า ขณะเดียวกันอยากให้กฎหมายนี้ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นกฎหมายสำหรับการทำธุรกรรมของบริษัทต่างชาติที่มาให้บริการในไทย และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!