ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังนลท.กังวลปริมาณผลิตน้ำมันดิบสหรัฐ-การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลงหนักสุดในรอบ 1 เดือน หลังตลาดกังวลต่อปริมาณอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes ได้ รายงานว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่น มาแตะระดับ 862 แท่น

– สถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน หลังการปิดบริการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพิ่งสิ้นสุดไป แต่หลายฝ่ายคาดว่า อาจมีการปิดบริการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ครั้งใหม่ หากการเจรจางบประมาณการใช้จ่ายของสหรัฐฯ ระหว่างรัฐสภาและทำเนียบขาวไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยตรง

– เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุดกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือน ธ.ค. 61 ได้ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่ม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน ม.ค. 61 รวมไปถึงมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอล่าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาปรับตัวลดลง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่าอุปทานในภูมิภาคยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะมีการส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่องไปยังนอกภูมิภาคเอเชีย

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังยุโรปเตรียมประกาศใช้ระบบการชำระเงินสำหรับซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุปสงค์น้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากจีดีพีของจีนในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 นับเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกในปี 2562 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ที่ร้อยละ 0.2

ติดตามสถานการณ์การพิจารณาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลา และตลาดน้ำมันดิบโลก เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา