ค่าเงินบาทผันผวนจากปัจจัยในประเทศ ตลาดจับตาการเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐ อย่างต่อเนื่อง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรตเงินตราระหว่างวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/2) ที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/2) ที่ระดับ 31.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจับตาการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จีนยืนยันว่านายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนจะจัดการประชุมเพื่อเจรจาการค้ารอบใหม่กับนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ โดยการประชุมจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งการเจรจาการค้าระหว่างนายหลิว นายมนูชิน และนายไลท์ไฮเซอร์ ในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญและถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขาไม่มีแผนที่จะพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ก่อนวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดไว้สำหรับการบรรลุข้อตกลงทางการค้า

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งกล่าวว่า อาจมีการเลื่อนกำหนดเส้นตายสำหรับการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 มีนาคม ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ ซึ่งการรายงานข่าวล่าสุดของสำนักข่าวบลูมเบิร์กกล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเลื่อนกำหนดเส้นตายในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้การเจรจาสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ตลาดยังคลายความกังวลของประเด็นการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐ (ชัตดาวน์) หลังจากที่สภาคองเกรสสหรัฐได้ข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับงบประมาณการใช้จ่ายทางด้านความมั่นคง โดยอนุมัติงบประมาณจำนวน 1.37 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่างบประมาณที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอขออนุมัติไปก่อนหน้านี้ที่ 5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามภาวะชัตดาวน์ครั้งใหม่ยังมีความเป็นไปได้จนกว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติและลงนามในงบประมาณใช้จ่ายก่อนกำหนดสิ้นสุดรายจ่ายฉุกเฉินในวันศุกร์นี้ (15/1) ในขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าเขาไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะชัตดาวน์ขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดเฟียกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐยังสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทั้งในปีนี้และปีหน้า เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ นั้นยังคงเป็นประเด็นที่กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่เช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา NFIB ได้มีการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลง 3.2 จุด สู่ระดับ 101.2 จุดในเดือน ม.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อมของสหรัฐมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มยอดขายในอนาคต และภาวะทางธุรกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐทรงตัวในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นการทรงตัวเดือนที่สามติดต่อกัน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% โดยยังคงกล่าวว่าการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันยังคงเป็นประเด็นที่กดดันอัตราเงินเฟ้ออยู่ โดยเมื่อเทียบรายปีดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัว 1.6% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากดีดตัวขึ้น 1.9% ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีผู้บริโภคที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคม โดยหากเทียบรายปีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเท่ากับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง 0.1% ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งการทรุดตัวของยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค. ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของยอดขายในสินค้าทุกหมวด

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้นั้น นายวีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นมาจากปัจจัยภายนอก โดยนายวิรไท ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจมีความเข้าใจผิดว่าสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงคือภาพรวมยังมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.17-31.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (11/2) ที่ระดับ 1.1326/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/2) ที่ระดับ 1.1326/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปในปี 2019 ไปอยู่ที่ 1.3% จากระดับ 1.9% จากการคาดการณ์ก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 1.6% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยุโรปยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ตึงเครียดเรื่องการค้าโลก และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้แผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปอาจเกิดความล่าช้า

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวตามประเด็นการแยกตัวออกจากกลุ่มประเทศยุโรปของอังกฤษ (Brexit) โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ขอให้รัฐสภาให้เวลาแก่นางเทเรซา เมย์ เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเวลาแก้ไขในข้อตกลง ซึ่งรัฐสภาจะลงคะแนนเสียงไม่เกินวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่รัฐสภาเองไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในข้อตกลง และต้องการให้นางเทเรซา เมย์ เจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขเนื้อหากับทางสหภาพยุโรป ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1245-1.1344 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/2) ที่ระดับ 1.1283/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเข้าวันจันทร์ (11/2) ที่ระดับ 109.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/2) ที่ระดับ 109.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากเป็นวันหยุดของประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงภายหลังจากที่เหล่านักลงทุนคลายความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายค่าเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่าแทน นอกจากนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีการรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบรายปี โดยการขยายตัวนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.67-111.12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/2) ที่ระดับ 110.39/42 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ