ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐ-จีนยังไม่บรรลุข้อตกลง

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/2) ที่ระดับ 31.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) แถลงการณ์ว่าสหรัฐและจีนยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเร็ว ๆ นี้ เพราะยังมีประเด็นที่ต้องเจรจาพูดคุยกันอีกหลายประเด็น อีกทั้ง เมื่อวาน (27/2) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เน้นย้ำในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่สองว่า เฟดจะยุติการปรับลดงบดุลภายในปีนี้

ระหว่างวัน (28/2) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มกราคม 2562 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดการใช้จ่าย เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ในส่วนการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ อีกทั้งในเดือนมกราคมยอดสินค้านำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 19,337 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเปรียบเทียบรายปี อย่างไรก็ตามยอดสินค้าส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 19,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเปรียบเทียบรายปี และบัญชีเดินสะพัดในเดือนมกราคมมียอดเกินดุลอยู่ที่ 2,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.45-31.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 1.1372/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนคาจากระดับปิดตลาดเมื่อว้นพุธ (27/2) ที่ระดับ 1.1392/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เงินยูโรอ่อนค่าสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการแถลงการณ์ของนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ เมื่อวาน (27/2) อย่างไรก็ตาม มีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาอยู่ที่ 106.1 มากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เล็กน้อยที่ 106.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาเท่ากับการคาดการณ์ที่ -7.4 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1362-1.1395 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1390/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/2) ที่ระดับ 110.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาด เมื่อวันพุธ (20/2) ที่ระดับ 110.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นในช่วงเช้าวันนี้ (28/2) ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมปรับตัวลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3 จากความต้องการด้านการส่งออกซบเซา และส่งผลให้รัฐบาลปรับลดการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.คงปรับตัวลงรุนแรงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบเป็นรายเดือน เนื่องจากยอดส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังประเทศจีนทรุดตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียได้ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นในเดือนมกราคมปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเปรียบเทียบรายเดือด มากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.64-111.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.79/110.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (28/2) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2561 (28/2) ดัชนี PMI เขตชิคาโกเดือนกุมภาพันธ์ (28/2) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) มกราคม (1/3) รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนมกราคม (1/3) ดัชนีภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์จาก ISM (1/3) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์จากมหาวิทยาลัยมิิชิแกน (1/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.10/-1.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.0/1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ