ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังมีความคลี่คลายในข้อพิพาทการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 31.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 31.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยบนเว็บไซต์ในวันศุกร์ (1/3) ว่า แบบจำลองการคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 1/2562 ทั้งนี้ เฟดแอตแลนตาเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (28/2) ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2561 มีการขยายตัว 2.6% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.2% แต่ชะลอลงจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาส 3/2561

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า สหรัฐอาจยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกือบทั้งหมดที่ได้บังคับใช้กับจีนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคาดว่าผู้นำของทั้งสองประเทศอาจจะบรรลุข้อตกลงการค้าอย่างสมบูรณ์ในการประชุมวันที่ 27 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ระหว่างค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.73-31.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.84/31.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (4/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.11368/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 1.1357/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดากรฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.3 ในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าระดับ 50.5 ในเดือน ม.ค. โดยดัชนี PMI ถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ถึงแม้ว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.11335-1.1395 ดอลลาร์สหาัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1337/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (4/3) เปิดตลาดที่ระดับ 111.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/3) ที่ระดับ 111.921/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในวันนี้ว่า กรรมการ BOJ จะทำการอภิปรายในประเด็นการถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในช่วงเวลาที่เหมาะสม และจะสื่อสารให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่อย่างไรก็ตามนายคุโรดะกล่าวว่า BOJ ยังไม่มีกลยุทธ์ในการถอนนโยบายดังกล่าวในขณะนี้ เนื่องจากการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกมาก โดยนายคุโรดะย้ำว่า BOJ จะใช้ความอดทนในการรักษามาตรการกระตุันเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะดีดตัวขึั้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.73-112.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ก.พ.จากมาร์กิต (5/3) ดัชนีภาคบริการเดือน ก.พ. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/3) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.พ.จาก ADP (6/3) ดุลการค้าเดือน ธ.ค. (6/3) รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (7/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/3) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ. (8/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.25/2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ