2 เดือนฟันด์โฟลว์ไหลออกตลาดบอนด์ 2.7 หมื่นล้าน

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยเดือน ม.ค.-ก.พ.62 ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของไทยรวม 27,200 ล้านบาท ชี้เกิดภาวะไหลกลับไปหาสินทรัพย์เสี่ยง เหตุสงครามการค้าคลี่คลาย-เฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย ฟันด์โฟลว์ในตลาดตราสารหนี้นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เริ่มเห็นเงินไหลออกไปประมาณ 27,200 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ม.ค.62 ที่อยู่ที่ 12,900 ล้านบาท และต่อมาในเดือน ก.พ.62 ที่อยู่ที่ 14,000 ล้านบาท สาเหตุคือเมื่อปี 2561 เราเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ (EM) ตั้งแต่หลังเดือน ส.ค.61 เป็นต้นมา ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในไทยในฐานะที่เป็น Safe Heaven ของตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างมาก

แต่ขณะนี้ความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มคลี่คลายลงไป และประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ออกมาคอมเม้นท์เกี่ยวกับเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดว่า ไม่ควรจะปรับขึ้น เพราะฉะนั้นท่าทีเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไปหาสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้เดือน ก.พ.62 เราเริ่มเห็นเงินไหลออกจากพันธบัตรระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) ประมาณ 2,700 ล้านบาท จากเดิมเงินที่ไหลออกจากพันธบัตรระยะสั้น 1, 3, 6 เดือน ซึ่งเกิดจากการถือไว้ครบกำหนดอายุ และอาจจะไม่ Roll Over ซึ่งถามว่ายอดที่ไหลออกไปอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับยอดถือครองพันธบัตรต่างชาติทั้งหมดที่อยู่ที่ 959,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ดีแม้ว่ายอดจะไหลออกเพิ่มขึ้น แต่ต่างชาติยังคงถือตราสารอายุยาวขึ้น ณ สิ้นเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 8.2 ปี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 60 ที่อยู่ที่ 6.7 ปี เพราะฉะนั้นการถือยาวส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนที่มีระยะเวลาค่อนข้างยาว ไม่ใช่เงินลงทุนเข้าเร็วออกเร็ว เพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง” นางอริยากล่าว

ทั้งนี้ถ้าเทียบฟันด์โฟลว์ในตลาดเกิดใหม่ (EM) จะเห็นว่าไทยมีเงินไหลออก เช่นเดียวกับมาเลเซีย, เกาหลี แต่นักลงทุนต่างชาติจะไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดี เงินจะไหลจากจากสองประเทศนี้ เพราะประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงอาจจะสูงกว่า แต่พอเกิดภาวะ Risk on นักลงทุนต่างชาติจึงกลับไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง และความผันผวนสูง

ประกอบกับค่าเงินบาท ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนถือว่าค่อนข้างแข็งค่า ซึ่งเงินไม่ได้ไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ แต่เนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่า และดุลบัญชีเดินสะพัด, การค้าและบริการ ถือว่าอยู่ระดับที่ค่อนข้างดีกว่า ในปี 2562 ตลาดไม่ได้คาดหวังว่า กนง.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากปลายปีก่อนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว จากผลสำรวจดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.รอบเดือน มี.ค.2562 อยู่ที่ระดับ 54 ซึ่งอยู่ในระดับที่เชื่อว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับ Policy Rate โดยในส่วน Fund managers มีความคิดเห็นว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 100% ในขณะที่ Bond Dealers อาจจะมีสัดส่วนแค่ 20% ที่เห็นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งดูจากผลเสียงแตก กนง.

ส่วนปัจจัยที่มีผลมาจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญว่า กนง.มีนโยบายที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง จึงน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจการปรับขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย อายุ 10 ปี และอายุ 5 ปี พบว่าบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 83 ซึ่งอยู่ในโซนที่เชื่อว่าน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกันอนด์ยีลด์ของไทย อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 73 หลังจากครั้งที่แล้วบอนด์ยีลด์ของไทย อายุ 10 ปี ลดลงมาตามบอนด์ยีลด์ของสหรัฐจากสภาพคล่องที่มีไม่มาก แต่ครั้งนี้บอนด์ยีลด์ของไทย อายุ 10 ปี และบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ทางตลาดเชื่อว่าน่าจะปรับขึ้นแล้ว

โดยปัจจัยที่ให้น้ำหนักคือ Demand และ Supply ของพันธบัตรและตราสารหนี้ในตลาดเป็นหลัก รวมถึงฟันด์โฟลว์ของตลาด เพราะจะเห็นว่าปีที่แล้วเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาค่อนข้างมาก ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะสั้นปรับขึ้นตามดอกเบี้ย Policy Rate แต่บอนด์ยีลด์ของไทย อายุ 10 ปี ไม่มีการปรับขึ้นเลย เพราะจะเห็นว่าฟันด์โฟลว์เข้ามาในพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างมาก

เพราะฉะนั้นปีนี้คนยังคงให้น้ำหนักฟันด์โฟลว์อยู่ หากต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาว อาจจะมีผลต่อการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ก็ได้

สำหรับ Policy Rate ในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปรับขึ้นไป 1 ครั้งมาอยู่ที่ 1.75% เท่ากับเกาหลี ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนถือว่าอยู่ในระดับที่เกือบต่ำสุด โดยอินโดนีเซียปรับขึ้นมาตลอดอยู่ที่ระดับ 6% ฟิลิปปินส์ขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% และมาเลเซียปรับขึ้นไป 1 ครั้งมาอยู่ที่ 3.25% หรือแม้แต่สหรัฐ ดอกเบี้ยเฟดยังอยู่ในระดับที่ 2.25%

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับเงินเฟ้อ เดือน ม.ค.62 ที่อยู่ที่ 0.27% แต่เดือน ก.พ.62 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.73% แต่อย่างไรก็ดียังอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่า กนง.อาจจะยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับดอกเบี้ย” นางอริยากล่าว