คปภ.แก้เกณฑ์คืนกำไรผู้ถือหุ้น สบช่อง บ.ประกันต่างชาติขนเงินกลับประเทศ

คปภ.แก้เกณฑ์ไฟเขียวประกันจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ในส่วนที่ได้กำไรจากการขายอสังหาฯ-เงินลงทุน สบช่องประกันต่างชาติขนกำไรกลับประเทศได้ไม่เกิน 25% พร้อมเพิ่มกฎเข้ม “วิเคราะห์” ผลกระทบใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ทั้ง “IFRS9-IFRS17” ครอบคลุมสินค้ารับประกันสูงสุดรวมกันแล้วเกิน 50% มาก่อนขออนุมัติ

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปลายปี 2561 คปภ.ออกประกาศฉบับใหม่ เรื่องแนวปฏิบัติในการขอรับความเห็นชอบการคำนวณผลกำไรของบริษัท เพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งประกาศฉบับนี้เปิดทางให้บริษัทประกันชีวิตทั้ง 23 แห่ง สามารถนำกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน และกำไรจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ มาคำนวณเป็น “กำไร” ของบริษัท เพื่อจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้สัดส่วนไม่เกิน 25% ของกำไรดังกล่าว

“เดิมกำไรส่วนนี้จะไม่ให้มานับรวมกับกำไรจากการขายประกันเพื่อจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น แม้จะเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจริงแล้วก็ตาม เนื่องจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาว เบี้ยประกันที่ได้รับจากผู้เอาประกันยังไม่ถือเป็นรายได้ของบริษัททั้งหมด บริษัทจะต้องกันเป็นเงินสำรองเพื่อจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันตามสัญญา” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี บริษัทประกันชีวิตจะสามารถนำกำไรส่วนนี้มาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้นั้น จะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 และ IFRS17 มาก่อน ซึ่งจะต้องครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประกันที่มีสัดส่วนการรับประกันสูงสุดของบริษัทรวมแล้วเกินกว่า 50% ของการรับประกันทั้งหมด

“ซึ่งเกณฑ์นี้จะเข้มกว่าเดิมค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทประกันชีวิตไม่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบ IFRS9 และ IFRS17 ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรฐาน แต่เริ่มเห็นหลายบริษัทเตรียมพร้อมเรื่องนี้แล้ว โดยเฉพาะบริษัทประกันต่างชาติที่ต้องการจะนำงบฯบางส่วนไปรวมกับบริษัทแม่” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับคุณสมบัติของบริษัทประกันชีวิตที่จะขอรับความเห็นชอบเรื่องการจ่ายเงินปันผลนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและฐานะการเงินดี มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) มากกว่า 200% หลังจากหักจำนวนเงินปันผล และทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) นอกจากนี้ ต้องมีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยมากกว่า 110% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 3% ด้านอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก รวมถึงมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 2 ปี รวมงวดบัญชีที่จ่ายปันผล พร้อมทั้งต้องจัดทำประมาณการงบการเงิน และประมาณการอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจ

ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทประกันชีวิตรายใดยื่นขอรับความเห็นชอบต่อนายทะเบียน (เลขาธิการ คปภ.โดยตำแหน่ง) เพื่อจะนำกำไรส่วนนี้มาจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น แต่โดยปกติแล้วบริษัทประกันชีวิตจะปิดงวดบัญชีก่อนที่จะมีการขออนุมัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ประมาณเดือน มี.ค-เม.ย. ซึ่งการพิจารณานั้นจะแจ้งผลให้บริษัทประกันเป็นหนังสือภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จริง ๆ ของเดิมก็เข้มอยู่แล้ว เพราะการขอรับความเห็นชอบในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกันชีวิต นอกจากจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว ที่สำคัญคือจะต้องขออนุมัติจากนายทะเบียน ซึ่งหากไม่อนุญาตก็ไม่สามารถจ่ายได้

“ทุกวันนี้บริษัทประกันชีวิตมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งในอนาคตเทรนด์ลงทุนจะเป็นแบบนั้น ส่วนจะเปิดช่องให้บริษัทประกันต่างชาตินำกำไรออกไปต่างประเทศได้นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การจ่ายปันผลจะต้องได้รับการอนุมัติจากนายทะเบียน” นายสาระกล่าว

ส่วนผลกระทบมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะต้องไปวิเคราะห์นั้น สำหรับ IFRS9 ไม่ได้มีประเด็นมาก แต่ IFRS17 มีประเด็นที่ต้องศึกษา เพราะขณะนี้ทุกบริษัทยังมองไม่ทะลุ เนื่องจากเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลก แต่ต่างประเทศอาจจะบังคับใช้ไปก่อน 1 ปี ปัจจุบันบริษัทใช้ที่ปรึกษาบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เป็น BIG4 เข้ามาช่วยในการศึกษา

นายสุธี โมกขะเวส รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทประเมินผลกระทบการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ไปมากพอสมควร แต่การจะ full implementation อาจจะยังไม่พร้อม ขณะนี้ขับเคลื่อนไปแล้ว 20-30% โดยลงทุนเรื่องระบบมากที่สุดเป็นหลักร้อยล้านบาทในการนำมาดำเนินการ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!