โบรกชี้ Q1 บจ.กำไร 1.86 แสนล้าน เสี่ยงติดลบ 10% สะดุดตั้งสำรองเพิ่ม

2 โบรกเกอร์คาดกำไร บจ. Q1/62 อยู่ระดับ “ทรงตัว-ติดลบ 10%” ค่ายยูโอบีคาดกำไรสุทธิรวม 1.86 แสนล้านบาท เหตุ บจ.แบกภาระตั้งสำรองพนักงานเกษียณตาม กม.ใหม่ ฉุดกำไรหด 2-4% สแกน 3 กลุ่มธุรกิจกำไรโตโดดเด่น “โรงไฟฟ้า-รพ.-รร.” นักวิเคราะห์ บล.เคทีบีระบุ อานิสงส์ราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้น หนุนกำไรหุ้นบิ๊กแคป “โรงกลั่น-ปิโตรเคมี”

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 1/62 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) น่าจะมีกำไรสุทธิรวม 1.86 แสนล้านบาท โต 52% จากไตรมาส 4/61 (QOQ) แต่ลดลง 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

โดยกลุ่มธุรกิจ 3 อันดับแรกที่กำไรโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า คาดว่าเพิ่มขึ้นถึง 500% QOQ และ 50% YOY จากที่มีการจ่ายไฟเข้าระบบในโครงการใหม่มากขึ้น รวมถึงไตรมาส 1-2 เป็นช่วงไฮซีซั่นของกลุ่มนี้ ตามด้วยกลุ่มโรงพยาบาล (รพ.) คาดเติบโต 81% QOQ ซึ่งได้อานิสงส์จากไตรมาส 4/61 ที่มีฐานกำไรต่ำ จากที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มีบันทึกรายการพิเศษด้านค่าใช้จ่ายภาษีจากการขายเงินลงทุนใน บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) และเติบโตได้ 11% YOY และอันดับ 3 เป็นกลุ่มโรงแรม (รร.) คาดว่าขยายตัว 48% QOQ และ 11% YOY จากอานิสงส์ช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยวที่ผ่านมา

ส่วนกรณีภาพรวมของกำไรสุทธิทั้งตลาด SET ที่ติดลบ 10% YOY นั้น นายกิจพณกล่าวว่า เนื่องมาจากปีนี้จะมี บจ.ต่าง ๆ มีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานเกษียณอายุที่เพิ่มขึ้น ตามกฎหมายใหม่ จาก 300 วันเป็น 400 วัน ทำให้แต่ละบริษัทจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาในส่วนนี้แตกต่างกันไป โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีการก่อตั้งมาค่อนข้างนาน และพนักงานมีอายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของแต่ละบริษัทราว 2-4%

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS ประเมินว่า กำไรงวดไตรมาส 1/62 ของ บจ.จะออกมา “ดีกว่า” งวดไตรมาส 4/61 เนื่องมาจากในไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมา กำไรของกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมีที่มี market cap สูงถึง 18-20% ของทั้งตลาด SET นั้น ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้กลุ่มนี้เกิดภาวะ “ขาดทุน” จากสต๊อกน้ำมันมูลค่ารวมกว่า 20-30 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ที่ปกติแล้วในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการบันทึกรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงกว่าไตรมาสอื่น ๆ ของปี ทั้งนี้ เมื่อทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจดังกล่าวรวมกันจะมีน้ำหนักถึง 50% ของ market cap ทั้งหมด จึงกดดันให้ฐานกำไรสุทธิโดยรวมของ บจ.ในงวดไตรมาส 4/61 อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท จากปกติ ไตรมาส 4 ในปีอื่น ๆ จะมีกำไรเฉลี่ย 2 แสนล้านบาท

ขณะที่งวดไตรมาส 1/62 คาดว่าผลดำเนินงานของกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมีจะพลิก “ฟื้น” กลับมาได้ จากปัจจัยราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น 26.42% หรือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่ลดลงไปถึง 53 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้กำไรของกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมีในงวดไตรมาส 1/62 ปรับ “เพิ่มขึ้น” มาจากที่ได้กำไรจากสต๊อกน้ำมัน ราว 1-2 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มแบงก์ กำไรงวดไตรมาส 1/62 จะเติบโตได้ดีเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม กำไร บจ.ไตรมาส 1/62 อาจทรงตัวเมื่อเทียบ YOY เนื่องจากในไตรมาส 1/61 เคยทำกำไร peak (สูงสุด) ถึง 2.86 แสนล้านบาท”