กรุงไทยหั่นเป้า GDP ปี’62 อยู่ที่ 3.8% เหตุส่งออกทรุดคาดทั้งปีโต 4%

กรุงไทย ลดเป้า GDP เหลือ 3.8% เหตุส่งออกหดตัวต่อเนื่อง คาดขยายตัว 4% ขณะเดียวกัน เชื่อตลาด Functional Foods ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เติบโตอย่างน้อย 4.4%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้โต 3.8% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.1% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการณ์เป็นการเดิม

ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลง คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นและสินค้าที่เกี่ยวกับปิโตเลียมราคาดีขึ้น แต่ในส่วนของปริมาณการส่งออกยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนกรณีที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เชื่อว่า ในช่วงไตรมาส2 และ 3 ปีนี้ ธปท.จะยังคงไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หากในไตรมาสที่ 4 จีดีพี สามารถขยายตัวได้ 3.8% ตามเป้าหมายที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ก็มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง

นอกจากนี้ จากการทำบทวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ของอาหารทั่วไป หรือ Functional Foods ซึ่งเป็นอาหารสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ออกกำลังกาย กลุ่มผู้ใส่ใจความงาม พบว่ามีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ซึ่งในต่างประเทศอัตรากำไรของบริษัทที่ทำ Functional Foods จะสูงกว่าอาหารทั่วไปถึงเกือบ 3 เท่า โดยมีอัตรากำไรเฉลี่ยสูงถึง 7.3% ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารทั่วไปอยู่ที่ 2.8 % อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

ด้าน นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวว่า เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาด Functional Foods ผู้ประกอบการควรสำรวจความต้องการของตลาด โดยศึกษาสารอาหารที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และควรเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยทำวิจัย เช่น ผู้ผลิตสารอาหารเฉพาะด้าน (Functional Ingredients) และหน่วยงานวิจัยจากภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงในการทำวิจัยเอง และช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องของรสชาติที่อร่อย การรักษาคุณสมบัติของสารอาหารให้คงเดิม และได้มาตรฐานการผลิต ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ผู้ประกอบการต้องเข้าใจเรื่องการรักษาคุณค่าของสารอาหารที่เติมลงไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาคุณค่าของสารอาหารก้าวหน้าไปมาก เช่น เทคโนโลยี Encapsulation ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างชั้นป้องกันสารสำคัญจากปฏิกิริยาหรือสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีในการรักษารสชาติ สี กลิ่น ให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์อาหารเดิม ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ Functional Foods ใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และหากเป็นไปตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ ในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการอาหารที่มีนวัตกรรมอาหารประมาณ 9,000 ราย” นายอภินันทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาด Functional Foods ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า จะเติบโตอย่างน้อย 4.4% จากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่สามารถครอบครองตลาดได้ทั้งหมด อีกทั้งตลาดผลิตภัณฑ์ Functional Foods เป็นตลาดที่เฉพาะด้านความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลาย