สศค.จับชีพจรเศรษฐกิจไทย ส่งออกแผ่ว-หนี้ครัวเรือนสูง

สัมภาษณ์

เศรษฐกิจปีนี้ดูท่าจะไม่สดใส เพราะนับตั้งแต่ต้นปีมา หลายสำนักได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจลงกันเป็นแถว โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อประเมินถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในมุมของภาครัฐ

Q : มองภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้อย่างไร

เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวมาเป็นลำดับ อย่างปีที่แล้ว (2561) ขยายตัว 4.1% โดยครึ่งปีหลังการส่งออกสินค้าและบริการชะลอลงมาก ซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย แต่ของไทยโชคดีที่ครึ่งปีหลังปีที่แล้ว เราได้การใช้จ่ายภายในประเทศเร่งตัวขึ้นมาช่วยชดเชย ส่วนปีนี้ก็ยังเห็นสัญญาณการส่งออกสินค้าที่ยังชะลอต่อเนื่อง อย่างเดือน ก.พ.ที่ยังขยายตัว ก็มาจากอาวุธ หากตัดออกไป ก็ติดลบ ขณะที่การส่งออกบริการ หรือท่องเที่ยว ถือว่ากลับมาดีขึ้น และการใช้จ่ายในประเทศก็น่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจในปีนี้ โดยจะต้องพึ่งการลงทุน การบริโภคเอกชนให้เกิดขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการใน EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) น่าจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยปีนี้

โดยในเวทีประชุม รมว.คลังอาเซียน ที่ จ.เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มองตรงกันว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภูมิภาคจะแผ่วลงจากปีก่อน แต่ยังขยายตัวอยู่ เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าที่จะทำให้การค้าโลกชะงักไปบ้าง โดยเศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของจีน ซึ่งต้องติดตามดูต่อไป โดยตอนนี้ถ้าดูตัวเลขการลงทุนผ่าน BOI (การส่งเสริมการลงทุน) ล่าสุด ก็เริ่มเห็นการลงทุนจากจีนเข้ามามากขึ้น เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

Q : จีดีพีจะโตแค่ไหน

ตอนนี้เรามองที่ 4% คาดมูลค่าส่งออกโต 4.5% โดยจะมีการทบทวนตัวเลข และแถลงภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้อีกที การที่หลายค่ายปรับลดลง หลัก ๆ ก็มาจากการส่งออกที่ชะลอกว่าที่คิดไว้

อย่างไรก็ดี ก็เป็นไปตามที่เราคาดไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่าครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจน่าจะชะลอ แล้วค่อยไปดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ส่งออกอาจจะเกินคาด คือเรามองว่าจะชะลอ แต่ดูเหมือนจะชะลอกว่าที่เราคาดไว้

Q : การลงทุนเอกชนเป็นอย่างไร

ก็ยังไปได้ โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร โดยหากมองช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนจะดูขยายตัวต่ำราว 2-3% แต่ปีที่แล้วก็ขยายตัวดีขึ้นประมาณ 3.9% ส่วนปีนี้

เรามองว่าจะโต 4.5% ซึ่งระหว่างที่รอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีอำนาจเต็มอยู่ ในการบริหารจัดการดูแลด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระดับนโยบายก็คงดูเหตุการณ์อยู่ว่า จะผลักดันนโยบายอะไรออกมาช่วงนี้หรือไม่

Q : ธุรกิจ SMEs ปีนี้จะเป็นอย่างไร

ภาพรวมก็ดูดีขึ้น แต่ถ้าดูรายสาขา ตอนนี้ที่ขยายตัวได้ดี คือ ค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง โลจิสติกส์ ก็จะเห็นว่าเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ส่วนภาคอุตสาหกรรมดูย้อนหลังไปขยายตัวแค่ 2-3% จึงเป็นที่มาว่าเราจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมมากขึ้น เป็นที่มาของการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริม

Q : แบงก์ชาติห่วงหนี้เสีย SMEs

ปีนี้ก็ไม่น่าเพิ่มมาก ส่วนหนี้ครัวเรือนยอมรับว่า อยู่ระดับสูง ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ สะท้อนการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวดี โดยผมมองว่ามาจากการที่ก่อนหน้านี้มีโครงการรถคันแรก ทำให้ยอดซื้อรถใหม่ติดลบไปมาก ตอนนี้พอหมดโครงการก็เห็นการกลับมาซื้อรถยนต์ หรือกลับสู่ภาวะปกติ ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็คงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ทั้งนี้ จุดที่เรามองตอนนี้ ในภาวะที่ GDP ยังขยายตัว รายได้ก็ยังขยายตัว แบงก์ชาติก็กำกับดูแลการให้สินเชื่อเข้มงวดขึ้น รวมถึงหนี้เสียของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อรถที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่ ยังไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หนี้ครัวเรือนที่สูงยังไม่ได้เป็นปัญหาต่อระบบ

Q : มองสินเชื่อเงินทอนอย่างไร

เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติเขาต้องดูแล แต่ตามหลักการ สินเชื่อเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่อะไรที่ทำแล้วเกิดปัญหาต่อความยั่งยืนทางการเงิน โดยอาจจะก่อให้เกิดหนี้เสีย ก็คงจะต้องมีการดูแล ขณะที่ในฝั่งของกระทรวงการคลัง เราก็ดูแลแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

Q : เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้นแค่ไหน

ผมมองว่าดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจฐานรากอิงกับพวกภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้รายได้เกษตรกรกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ปลายปีก่อน ขณะที่คลังก็ทำนโยบายบัตรสวัสดิการเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มฐานราก

Q : รัฐบาลใหม่ต้องเติมจุดไหนบ้าง

ในเรื่องส่งออก คงเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือ การใช้จ่ายในประเทศ การบริโภค การลงทุน ผมว่ารัฐบาลที่เข้ามาก็คงเน้นเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการบริโภคเอกชนก็ขยายตัวได้ดีแล้วระดับหนึ่ง ดังนั้น คงต้องเน้นกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ เพราะถ้ารัฐลงทุนก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนมาลงทุนได้เพิ่ม ถ้าถามผมก็อยากเห็นการลงทุนโตได้มากกว่าที่ผ่านมา เพราะประเทศต้องโตด้วยการลงทุนถึงจะยั่งยืน ไม่ใช่โตด้วยการบริโภค การลงทุนต้องโตไม่ต่ำกว่าปีละ 5%