สมาคมธนาคารไทย เปิดให้ผู้ฝากเงินออมทรัพย์ไม่อยากได้สิทธิ ยกเว้นภาษีแจ้งแบงก์ 7-14 พ.ค.นี้ สรรพากรวอน จบดราม่า

สรรพากรวอนจบดราม่าภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 2 หมื่นบาท/ปี ออกประกาศฉบับแก้ไขวันนี้ให้มีผลตั้งแต่ 4 เม.ย. ฟากสมาคมธนาคารไทยเปิดให้ผู้ไม่ประสงค์ “ให้ส่งข้อมูล-ยกเว้นภาษี” กรอกแบบฟอร์มแจ้งแบงก์ได้ช่วง 7-14 พ.ค.นี้ ชี้คนไม่แจ้งจะได้รับสิทธิเหมือนเดิม

วันนี้ (3 พ.ค.) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร พร้อมด้วย นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และ นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร ร่วมกันแถลงข่าว หัวข้อ “สรรพากรยืนยันยังใช้เกณฑ์เดิม ดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี” โดย นายเอกนิติ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันค่อนข้างมาก เกี่ยวกับเรื่องการส่งข้อมูล และ การหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งมีการมองกันว่าสร้างความยุ่งยากในการที่ผู้ฝากเงินจะต้องไปแจ้งกับธนาคาร เพื่อให้ความยินยอมส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยเรื่องนี้กรมได้ข้อสรุปตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคานานาชาติ และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดแนวทางส่งข้อมูลดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฝากเงินได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

“จากการประชุม เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เห็นพ้องต้องกันว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฝากเงินที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ทางธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร ซึ่งกรมจะรวบรวมข้อมูลของทุกธนาคาร แล้วดูว่าผู้ฝากรายใดมีดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทหรือไม่ แล้วกรมจะแจ้งกลับไปที่ธนาคาร หากไม่เกินก็ไม่ต้องทำอะไร แต่รายใดเกินก็จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ส่วนผู้ที่ประสงค์จะไม่รับสิทธิยกเว้นภาษีจะต้องไปแจ้งกับธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ย ว่าไม่ต้องส่งข้อมูล โดยธนาคารก็จะทำหน้าที่เหมือนปกติ คือ การหักภาษี ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากในอัตรา 15% ฉะนั้น แปลว่าผู้ฝากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นท่านไม่อยากได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรม” นายเอกนิติกล่าว

นายเอนิติ กล่าวอีกว่า กรมสรรพากรจะแก้ประกาศอธิบดี เพื่อทำให้สอดคล้องกับแนวทางที่คุยกันนี้ โดยน่าจะประกาศออกมาภายในวันนี้ แต่จะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2562 เหมือนกับประกาศฉบับเดิม

นอกจากนี้ อธิบดีกรมรรพากร กล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้รับ จะเป็นเพียงข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งไม่ต้องกังวลว่า กรมจะนำมาใช้เก็บภาษี เพราะคนละวัตถุประสงค์กัน โดยหากจะกังวลเรื่องข้อมูล ต้องบอกว่า กรมสรรพากรมีข้อมูลอื่น ๆมากกว่านี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากขอให้จบดราม่าเรื่องนี้

ขณะที่ นายปรีดี กล่าวว่า แนวปฏิบัติที่ออกมา หลักก็คือ เกณฑ์ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยผู้ที่เคยได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากมีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ก็จะยังคงได้รับยกเว้นเหมือนเดิม และ ไม่ต้องมาแจ้งธนาคารด้วย อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์เตรียมพร้อมให้บริการผู้ใช้บริการบางส่วนที่ไม่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งจะใช้แบบฟอร์มเดียวกันทุกธนาคาร

“เรามีแบบฟอร์ม โดยธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารจะปฏิบัติเหมือนกันหมด ซึ่งเราพยายามหาแนวทางกัน โดยที่ผ่านมา ที่มีการใช้เวลาไปช่วงหนึ่ง ก็เพื่อหาแนวทาง คุยกันให้รอบคอบ ทั้งนี้ หากลูกค้าประสงค์จะไม่รับสิทธิยกเว้นภาษี พอเปิดราชการมาในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ไปจนถึงวันที่ 14 พ.ค. ก็มาแจ้งได้เลย ส่วนคนที่อยากได้สิทธิก็อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องมาแจ้ง นี่เป็นแนวทางที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งคุยกันแล้วได้ข้อสรุปออกมา” นายปรีดีกล่าว

นางสาวพัดชา กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่ประสงค์จะให้แบงก์ส่งข้อมูล แต่ในที่สุดแล้ว กรมก็จะได้ข้อมูลมาในรูปแบบ ภ.ง.ด. 2 เพราะถ้าไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ก็จะต้องถูกหักภาษีตั้งแต่บาทแรก ซึ่งทางธนาคารผู้รับฝากเงินก็ต้องแจ้งข้อมูล ภ.ง.ด. 2 ว่าได้จ่ายดอกเบี้ยไปกี่บาท พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่ายมาด้วย 15%