ความผันผวน ตลาดหุ้นเป็นเรื่องปกติ

แฟ้มภาพ
คอลัมน์ลงทุนทั่วโลก โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

 

หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลก “เพิ่มขึ้น” ตั้งแต่ต้นปีนี้ ความกังวลของนักลงทุนเริ่มหายไป และการมองโลกในแง่ดีเข้ามาแทนที่ ดังที่ผมสังเกตได้จากกระแสเงินทั่วโลกที่ไหลเข้าตลาดหุ้นจำนวนมากในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่ระดับดัชนีหุ้นทั่วโลกสูงขึ้นมาก และหลังจากนั้นดัชนีหุ้นสหรัฐทำสถิติปิดระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แต่เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ Tweet ขู่ในต้นเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จาก 10% เป็น 25% เพราะไม่พอใจต่อความล่าช้าของจีนในข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับ “ลงแรง” โดย Bloomberg คาดมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก Tweet ของประธานาธิบดีทรัมป์ ในฐานะนักลงทุน เราควรประเมินเรื่องนี้อย่างไร

ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนจะคงอยู่อีกนาน เพราะไม่ใช่จากเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมเรื่องเดียว หากแต่มีมิติเกี่ยวกับความเป็นมหาอำนาจของโลกที่สหรัฐซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งมานานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกำลังเผชิญการท้าทายจากจีน ขอเพียงความขัดแย้งนี้ไม่ลงเอยเป็นสงคราม ความขัดแย้งทางการค้าถือเป็นเรื่องเล็กน้อย

ขณะที่ประเด็นเฉพาะหน้าคือเรื่องการทำข้อตกลงทางการค้านั้น ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร (ผลจะออกมากลางดึกของคืนวันที่ 13 พ.ค. 62) แต่กรณีพื้นฐานที่คาด คือ สหรัฐจะเดินหน้าเก็บภาษีจากจีนเป็น 25% ตลาดหุ้นจะปรับลงมากในช่วงแรก ๆ แต่ไม่เกิน 6 เดือน สหรัฐและจีนจะกลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง และน่าจะได้ข้อสรุปที่ประนีประนอมกันได้ แต่ถ้าตกลงกันได้ก่อนเส้นตายเที่ยงวันที่ 13 พ.ค. 62 (หรือเที่ยงคืนตามเวลาไทย) ตลาดหุ้นคงจะปรับขึ้นต่อ แต่อาจจะขึ้นไปได้ไม่มาก เพราะ 4 เดือนที่ผ่านมาดัชนีหุ้นทั่วโลกเพิ่มค่อนข้างมากแล้ว และเป็นไปได้ที่กรณีนี้นักลงทุนส่วนหนึ่งจะลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีและเติบโตสูงมากกว่าหุ้นหมวดอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ประการที่สอง ในโลกการลงทุนไม่เคยมีภาวะตลาดสงบสุขตลอดกาล หรือภาวะตลาดที่ไม่มีความผันผวน ตั้งแต่โลกทุนนิยมมีตลาดหุ้นเมื่อสี่ร้อยปีก่อน ความผันผวนอยู่กับตลาดหุ้นมาตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องตระหนักและรับทราบดี และจากประสบการณ์สี่ร้อยปี นักลงทุนที่ตอบสนองต่อข่าวสารเชิงลบและความผันผวนในตลาดด้วยการเร่งเทขาย มีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตระหนักและทราบดี แต่จิตวิทยาการลงทุนของมนุษย์อยู่กับมนุษย์มายาวนานจนทำให้พฤติกรรมและความคิดส่วนใหญ่ของมนุษย์จะตอบสนองอย่างมากต่อปรากฏการณ์เชิงลบเฉพาะหน้า ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก เพราะหลายแสนปีก่อน ถ้าเราเจอสิงโตวิ่งเข้าหาในทุ่งหญ้าแอฟริกาและเรายิ้มอย่างอ่อนโยนให้ เราคงสูญพันธุ์ไปนานแล้วไม่มีโอกาสได้สร้างอารยธรรมและมีความรู้ในระดับลงลึกไปถึงระดับอะตอมและหลุมดำเช่นปัจจุบัน

จิตวิทยาการลงทุนแบบนี้ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ หลายปีก่อนตอนที่กระทรวงการคลังและตลาดหุ้นไทยจัดให้มีการลงทุนใน LTF ผมพบว่าในช่วง 5-7 ปีแรก ผมแทบไม่พบคนที่ขาดทุนจากการลงทุนใน LTF เลย ไม่ว่าประเทศไทยในช่วงนั้นจะผ่านกีฬาสีทางการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ เพราะผู้ลงทุนใน LTF ไม่สามารถขายก่อนเวลาได้ เพราะถ้าขายก่อนเวลา (3 ปีเต็ม หรือ 5 ปีปฏิทินในช่วงนั้น) จะถูกกรมสรรพากรเรียกปรับ ความกลัวกรมสรรพากรบังคับให้นักลงทุนใน LTF จำเป็นที่จะต้องเป็นนักลงทุนระยะยาว และผลก็คือในแง่นักลงทุนบุคคลที่ลงทุนทั้ง LTF และลงทุนในหุ้นส่วนตัวแล้วพบว่าโดยเฉลี่ยผลตอบแทนใน LTF น่าจะดีกว่าการลงทุนส่วนตัว เพราะผู้ลงทุนใน LTF จำเป็นต้องถือยาว เพราะฉะนั้น key สำคัญของการลงทุนที่จะช่วยแก้ปัญหาจิตวิทยาการลงทุนนี้ คือ ระยะเวลาในการลงทุน

ประการที่สาม การลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ลงทุนได้ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนอย่างมากในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลงหรือซบเซา ในไทยเองวิกฤตฟองสบู่ไทยปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐในปี 2551 สร้างเศรษฐีจากตลาดหุ้นไทยในจำนวนมาก เพราะว่าการลงทุนในช่วงตลาดปรับตัวขึ้นไปมากหรือดัชนีขึ้นไปในระดับสูง ๆ มีโอกาสยากพอสมควรที่การลงทุนนั้นจะสร้างผลตอบแทนในลักษณะที่พลิกชีวิตจากคนธรรมดาเป็นเศรษฐีได้

ประการสุดท้าย คนส่วนใหญ่ถ้าไม่มีเครื่องมือบังคับอย่าง LTF ที่ต้องถือลงทุนยาว จุดหนึ่งที่ช่วยในเรื่องการลงทุนได้ คือ การกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุน และการกระจายหรือเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยในพอร์ตการลงทุนให้สูงขึ้น นอกเหนือจากนี้แล้ว การลงทุนในตราสารหนี้แม้จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าก็จริง แต่ในเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้เป็นขาขึ้นและราคาแพงมาโดยตลอด อันที่จริงระดับดัชนีหุ้นที่ว่าแพงนั้นยังถือว่าถูกเมื่อเทียบกับราคาตราสารหนี้ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น การมีตราสารหนี้มากเกินไปในพอร์ตการลงทุน “ไม่อาจ” จะช่วยให้ผู้ลงทุนธรรมดา ที่ไม่ได้ร่ำรวยประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้