ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) “คิกออฟ” คิวอาร์โค้ด (QR Code) กลาง หรือ QR Code มาตรฐาน เพื่อการชำระเงินในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา
ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญตามแผน National e-Payment ของรัฐบาล
โดย “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ฉายภาพว่า การนำ QR Code มาใช้ในการชำระเงิน ถือเป็นนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ล่าสุด ที่มี “ความปลอดภัยสูง” เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ต้องให้ “ข้อมูลบัญชี” แก่ร้านค้า ขณะเดียวกันยังเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ชำระเงินได้อย่างหลากหลายขึ้น ในขณะที่ธนาคารก็ไม่ต้องมีต้นทุนการจัดเก็บเงินสด
“ส่วนร้านค้า นอกจากสะดวกในการรับชำระเงินแล้ว ในอนาคตยังสามารถใช้ข้อมูลรับชำระเงินไปขอสินเชื่อ แทนการใช้หลักประกันได้ด้วย” นายวิรไทกล่าว
ซึ่งแม้การให้บริการชำระเงินด้วย QR Code ขณะนี้ จะยังไม่แพร่หลายนัก โดยมีเพียงธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน (regulatory sandbox) เพื่อทดสอบระบบ ก่อนนำไปใช้ แต่ก็ยังมีอีก 6 ธนาคารที่อยู่ระหว่างยื่นเรื่องขอเข้ามาทดสอบระบบ ซึ่งทาง ธปท.คาดหมายว่า สุดท้ายแล้ว สถาบันการเงินที่ยื่นเรื่องขออนุญาตทั้งหมด น่าจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2560 นี้
นอกจากนี้ หลายธนาคารเริ่มขยับตัวอย่างชัดเจน อย่างเช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่กำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่มารองรับ QR Code โดยมีเป้าหมายสนองตอบการใช้งานบนมือถือได้อย่างไหลลื่นขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เช่นกัน
“ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า กำลังนำร่องนำระบบ QR Code ไปทดลองกับร้านค้า ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของธนาคาร โดยแบ่งเป็น 5 เซ็กเมนต์ ตามขนาดร้านค้า เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการชำระเงินของประชาชน
“เราน่าจะเห็นแบงก์ต่าง ๆ แข่งขันออกโปรโมชั่น เพื่อแย่งกันเป็นเจ้าตลาดชำระเงิน และดึงดูดกลุ่มร้านค้าให้เห็นมากขึ้นในสิ้นปีนี้” นายฐากรประเมิน
“ปรัศนี อุยยามะพันธุ์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า แอปพลิเคชั่น “บัวหลวง เอ็มแบงกิ้ง” ของธนาคารสามารถใช้ QR Code รับ-จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต/เครดิตได้แล้ว โดยทดลองใช้กับร้านค้าในกรุงเทพฯ เช่น ตลาดละลายทรัพย์ และตลาดตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่และขอนแก่น ฯลฯ ซึ่งภายในเดือน พ.ย.จะขยายบริการไปยังร้านค้าทั่วประเทศ
“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าว่า ได้ออกแอปพลิเคชั่น “GSB PAY” ที่ใช้ชำระบัตรเครดิตกับบัตรเดบิตทุกธนาคารผ่าน QR Code ได้ รวมถึงธนาคารกำลังขอ ธปท.ทดสอบการใช้งาน QR Code มาตรฐานกับแอปพลิเคชั่น “MymoPay” ที่ออกเมื่อต้นเดือน ส.ค. ตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 5,000 แห่ง และมีลูกค้าใช้งานแอปฯ นี้แล้ว 1.5 ล้านราย
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มองว่า QR Code จะเป็นตัวเชื่อมระบบชำระเงินในหลายรูปแบบ โดยจะเลือกจ่ายเงินจากบัญชีธนาคาร หรือจ่ายจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ก็ได้ ขณะที่ฝั่งร้านค้าสามารถดำเนินการ QR Code ควบคู่ไปกับการวางเครื่องรับบัตร EDC ได้ ซึ่งธนาคารจะนำ QR Code ไปต่อยอดกับการติดตั้ง EDC ที่ดำเนินการอยู่
ด้านธนาคารกสิกรไทยก็มีการเปิดบริการ QR Code ใน 3 ย่านค้าสำคัญ ได้แก่ สยามสแควร์ แพลทินัม และจตุจักร ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เดินหน้าเจาะกลุ่มร้านค้าขนาดเล็ก และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งในตลาดนัดจตุจักรและพหลโยธิน 34
เป้าหมายนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” ดูจะใกล้เข้ามาทุกขณะ