ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ภายหลังนักลงทุนคลายความกังวลในสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 30.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 30.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงสนับสนุนภายหลังไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ขยับขึ้นสู่ระดับ 50.6 ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 50.5 ในเดือน พ.ค. รวมไปถึงนักลงทุนคลายความกังวลจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า การที่สหรัฐกำลังดำเนินการเจรจาการค้ารอบใหม่กับจีน ถือเป็นการยุติความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า เขาจะระงับการขึ้นภาษีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงที่มีการเจรจานี้

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ตกลงกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการเจรจาการค้าอีกครั้งบนพื้นฐานของความเท่าเทียม และความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.66-30.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (1/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1285/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 1.1323/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดัน ภายหลังไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.6 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 47.7 ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือน มิ.ย. และเป็นการหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันภายหลังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 89 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สองฝ่ายมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน โดยทั้งสหรัฐและ EU ต่างก็กล่าวหากันและกันว่า ให้ความช่วยเหลือบริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1273-1.1299 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1290/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (1/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 108.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ความขัดแข้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง กดดันให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.18-108.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย.จาก ADP (3/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/7) ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค. (3/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (3/7) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.6/-2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ