ธปท.เข้มส่งทีมประกบแบงก์ สกัดเก็งกำไร-ฟองสบู่อสังหา

ธปท.เกาะติดสินเชื่ออสังหาฯ ส่งเจ้าหน้าที่ประกบรายแบงก์ ประเมินความเสี่ยงแบบรายเดือน คุมเข้มเก็งกำไรปั่นฟองสบู่ หลังแบงก์แข่งอัดแคมเปญปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำชิงลูกค้า แบงก์กรุงศรีฯชี้เทรนด์สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาฯน่าห่วงแข่งผุดโครงการทะลัก แบงก์ชาติเปิดข้อมูลคุณภาพสินเชื่ออสังหาฯแย่ลง ทั้งที่แบงก์พาณิชย์คุมเข้ม เครดิตบูโรชี้หนี้เสียอสังหาฯไตรมาส 2 พุ่งอยู่ที่ 4.1% ทะลุ 7 แสนล้านบาท

ธปท.ส่งทีมประกบรายแบงก์

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้การเติบโตของสินเชื่ออสังหาฯที่มีการเติบโตขึ้นและแข่งขันกันรุนแรงด้านดอกเบี้ยในปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่เห็นฟองสบู่ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่ ธปท.ก็มีการติดตามสถานการณ์การปล่อยสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยให้เจ้าหน้าที่ของ ธปท.เข้าไปดูการปล่อยสินเชื่อเป็นรายแบงก์ และส่งข้อมูลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้ ธปท. เพื่อติดตามการปล่อยสินเชื่อแต่ละช่วงว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงหรือไม่

“ล่าสุดก็ให้เจ้าหน้าที่ ธปท.เข้าไปดูเป็นรายแบงก์ หนึ่งคนต่อหนึ่งแบงก์ เพื่อเอาข้อมูลมาตรวจสอบว่าการปล่อยสินเชื่อช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และดูแนวโน้มข้างหน้าเพื่อให้เห็นข้อมูลว่าแต่ละช่วงสินเชื่อเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความเสี่ยงในสินเชื่ออสังหา หรืออะไรที่ผิดปกติ การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ก็ยังทรง ๆ แต่ก็ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่สำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ” นายรณดลกล่าว

เช็กข้อมูลสินเชื่อบ้านรายเดือน

ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ล่าสุด ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของรายย่อยให้ ธปท.รับทราบทุกเดือน เพื่อดูภาพรวมและความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จากเดิมที่ ธปท.เข้าตรวจสอบแบงก์และขอข้อมูลภาพรวมธนาคารปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สินเชื่ออสังหาฯสำหรับรายย่อยในพอร์ตของธนาคารไม่ได้มีปัญหา แต่ที่ ธปท.กังวลน่าจะเป็นสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการมากกว่า เพราะมีการแข่งขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ก็ยังไม่มีปัญหา ในส่วนหนี้เสียก็ยังคุมไว้ที่ 2.4-2.6% ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อแม้ครึ่งปีแรกจะชะลอตัวลงบ้าง เพราะไม่มีโครงการลงทุนภาครัฐ แต่ครึ่งปีหลังมองทิศทางดีขึ้น

แบงก์แข่งถล่มดอกเบี้ยดึงลูกค้า

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่เห็นภาวะฟองสบู่ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในระบบธนาคารพาณิชย์ แต่เชื่อว่าในภาวะที่ทุกแบงก์แข่งปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยให้ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ปัจจุบันเฉลี่ย 2-3% จากอดีตที่เคยสูงเกิน 3-4% ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์มากกว่าความต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า หรือเกิดหนี้เสียในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ได้ หากผู้ผ่อนชำระตกงานหรือสภาพคล่องลดลง

ภายใต้การแข่งขันดอกเบี้ยต่ำในตลาดสินเชื่อบ้าน ทำให้ธนาคารก็ต้องปรับกลยุทธ์ใช้ดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแบงก์อื่นได้ แต่ขณะเดียวกันธนาคารก็มีการสกรีนลูกค้าเข้มงวดมากขึ้น ผ่านการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ เช่น การปรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ Loan to Value : LTV Ratio เหลือ 70-80% จากเดิมที่กำหนดอยู่ที่ 90% สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ประจำ ขณะที่กลุ่มอาชีพอิสระต่าง ๆ มีการลด LTV ลงอีก 5-10% เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง

CIMBT ปรับลดเป้าสินเชื่อ

“กลุ่มที่เรามองว่าจะมีปัญหาคือกลุ่มที่ซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร หรือกลุ่มอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ เพราะหากกลุ่มนี้มีปัญหาจะกระทบต่อการผ่อนชำระทันที ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ต้องเข้มงวดมากขึ้น ทั้งดูความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ เกณฑ์คือต้องมีความสามารถผ่อนมากกว่ากลุ่มรายได้ประจำ LTV ก็ปรับเข้มขึ้นด้วย เพื่อให้ความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียลดลง”

นายอดิศรกล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของ CIMBT ในส่วนสินเชื่อบ้านยังต่ำ ยังอยู่ที่ 3% ใกล้เคียงสิ้นปีก่อน สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อบ้านปีนี้ธนาคารได้ปรับลดเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ลงเหลือ 13,000-14,000 ล้านบาท จากเดิมที่ประเมินไว้ถึง 16,000 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อบ้านปีนี้ค่อนข้างแรง ทำให้เกิดการแย่งลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ CIMBT ธปท.ไม่ได้ขอข้อมูลเจาะจงเฉพาะสินเชื่ออสังหาฯ แต่เป็นการขอภาพรวมการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด ถือเป็นการายงานข้อมูลตามปกติ

ธนชาตคุมเข้มกลุ่มอาชีพอิสระ

นายสุพจน์ สุขขะเสริมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ภาพรวมหนี้เสียของธนาคารช่วงครึ่งปีแรกขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.4% โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการตกชั้นของลูกหนี้หลังเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความอ่อนไหวทางรายได้มากกว่ากลุ่มรายได้ประจำ

“อัตราการอนุมัติสินเชื่อบ้านปัจจุบันอยู่ที่ 50-60% โดยเน้นกลุ่มที่มีเงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาท หรือมีกำลังซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่เอ็นพีแอลของธนาคารล่าสุดอยู่ที่ 2.8% ก็ต้องพยายามทำให้ลดลง โดยการเจรจากับลูกหนี้เพิ่ม ทั้งขยายเวลา ลดค่างวด หรือการตัดพอร์ตหนี้เสียขาย เพื่อคุมเอ็นพีแอลสินปีให้อยู่ที่ 2.5-2.6%”

นายสุพจน์กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้ายอดสินเชื่อเคหะอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่ 3.6% ล่าสุดธนาคารจัดแคมเปญกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ อาทิ ผ่อนล้านละ 4,500 บาทต่อเดือน สำหรับพนักงานประจำ โดยเป็นการลดเงินต้นเพื่อให้ผู้ซื้อมีสภาพคล่องเหลือ อีกแพ็กเกจคือสินเชื่อกตัญญูดูแลบุพการี ที่ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่เลี้ยงดูบุพการี โดยให้ดอกเบี้ย 4.25-4.5% วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท เป็นต้น

คุณภาพสินเชื่ออสังหาฯแย่ลง

ทั้งนี้ จากรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของ ธปท. จาก 54 สถาบันการเงิน พบว่าทุกสถาบันการเงินยังเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ ในทุกขนาดธุรกิจ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จากมุมมองความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ทั้งเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจการเกษตรและอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค

โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ หากดูจากดัชนีชี้วัดมาตรฐานการให้สินเชื่อบ้านในไตรมาส 2/60 อยู่ที่ -2.6 สะท้อนว่าแบงก์มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้สินเชื่อมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่ดัชนีของคุณภาพสินเชื่อบ้านไตรมาสแรกอยู่ที่ -1.8 และไตรมาสสอง -11.4 สะท้อนคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นก็ตาม

หนี้เสียกลุ่มอสังหาฯพุ่ง 4.1%

ขณะที่ฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลเครดิตของสถาบันการเงินทุกประเภท ทั้งแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐและน็อนแบงก์ พบว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่ออสังหาฯ ณ สิ้นไตรมาส 2/60 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% ด้วยมูลค่า 718,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/60 สัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4% ด้วยมูลค่า 653,498 ล้านบาท โดยกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นคือกลุ่ม Gen Y (อายุเฉลี่ย 20-37 ปี) มียอดเอ็นพีแอลสะสมกว่า 6 หมื่นบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าเอ็นพีแอลรวมที่ราว 7 หมื่นล้านบาท