“ภากร” ชี้เหตุระเบิดกระทบหุ้นไทยระยะสั้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้น้ำหนักเฟดลดดอกเบี้ยต่ำกว่าคาด-ทรัมป์เก็บภาษีจีนกดดันตลาดมากกว่า “เหตุการณ์ในประเทศ” ย้ำมีการพูดคุยระหว่าง “คลัง-แบงก์ชาติ” ตลอด ไม่หวั่นหุ้นลง 1%

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ภาวะตลาดหุ้นไทยวันที่ 2 ส.ค.62 ปรับลดลงประมาณ 20 จุด ชี้ว่าเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกมีทิศทางปรับลดลงตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.-2 ก.ค.62 หรือตั้งแต่ช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แต่ตลาดคาดว่าอาจไม่เกิดการลดลงแบบต่อเนื่อง รวมถึงเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตข้อความจะขึ้นภาษีจีน 10% ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 4 วันที่ผ่านมา

ส่วนเหตุการณ์ในประเทศที่เกิดขึ้น (เหตุระเบิด) ชี้ว่ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น และกระทบต่อบรรยากาศ (sentiment) การลงทุน โดยชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกันในวันที่ 2 ส.ค.62 (วันที่เกิดเหตุ) พบว่า ตลาดหุ้นไทยมีการปรับลดลงต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ขณะที่ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยจะต้องติดตามต่อว่าจะคลี่คลายออกมาอย่างไร

ทั้งนี้ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเทียบ ณ สิ้นวันที่ 30 ก.ค.- 2 ส.ค.62 พบว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงประมาณ 1.62% สหรัฐฯ ลดลง 2.26% จีนลดลง 3.42% ญี่ปุ่นลดลง 3.05% ไต้หวันลดลง 2.60% ฮ่องกงลดลง 4.24% เกาหลีลดลง 1.87% และมาเลเซียลดลง 0.86%

ในส่วนของการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายภากร กล่าวว่า “โดยปกติเรามีการคุยกันโดยตลอดถ้ามีปัจจัยใหญ่ๆ อย่างคราวนี้ปัจจัยใหญ่ที่เรามองคือเรื่องเศรษฐกิจโลกและตลาดโลกมากกว่าว่าจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร รวมถึง การเคลื่อนไหวของเงินทุนว่ามีการเคลื่อนไหวเข้าประเทศไทยอย่างไรบ้าง ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ เราก็มีการมอนิเตอร์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพราะปกติเรามีการสื่อสารกันเมื่อตลาดมีการเคลื่อนไหวมากๆ ซึ่งวันนี้ยังไม่สื่อสารกัน เนื่องจากตลาดพึ่งลงมา 1% หากมีการเคลื่อนไหวรุนแรงเราจะมีการอัพเดทกันอยู่เสมอ”

ส่วนทิศทางของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) มองว่าการที่ฟันด์โฟลว์จะเข้าจะเข้ามาลงทุนในประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น น้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI หรือข่าวการเปลี่ยนแปลงของบจ. ดังนั้น หากปัจจัยเหล่านี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมองว่าไม่จำเป็นจะต้องกังวลเกี่ยวกับฟันด์โฟลว์ไหลออก หากออกคาดว่าจะออกเพียงระยะสั้น

นายภากร กล่าวอีกว่า ฝากถึงนักลงทุนให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน สภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบจ. ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ นอกจากนี้ หากไม่สามารถติดตามสถานการณ์ได้ทันแนะนำซื้อกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนสถาบันดูแลให้