ธปท.เตรียมทบทวนตัวเลขส่งออก

ธปท.เตรียมทบทวนตัวเลขส่งออก จากเดิมคาดส่งออกปี’62 เติบโต 0% หลังล่าสุดมูลค่าการส่งออกในเดือนก.ค.62 เผชิญแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด-การนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตชะลอตัวลง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการประชุมทุกครั้งจะมีการพูดคุยกันถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ ส่วนในครั้งนี้มีการพูดคุยกันถึงแนวโน้มเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับประมาณการเศรษฐกิจครั้งที่แล้วว่ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนมูลค่าการส่งออกครั้งที่แล้วธปท.ประมาณการไว้ว่าจะเติบโต 0% อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขล่าสุดที่ออกมาเดือนที่แล้ว (ก.ค.62) มูลค่าการส่งออกอาจมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตต่างๆ ชะลอตัว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการส่งออกในช่วงถัดไปอาจจะต้องมีการทบทวน

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงิน นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กรรมการกนง.ทุกท่านยังมีความกังวลในเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม กรอบเป้าหมายของกนง.ด้านหนึ่งคือเสถียรภาพระบบการเงิน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่ากรรมการแต่ละท่านชั่งน้ำหนักประเด็นนี้อย่างไร ดังนั้น ในระยะต่อไปตามที่ปรากฎในแถลงการณ์ว่าจะต้องใช้เครื่องมือ “Macroprudential” และ “Microprudential” เพื่อเข้าไปดูแลเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้นต่อไป

ส่วนความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและค่าเงินบาทนั้น ในการพิจารณาการดำเนินนโยบายทางการเงินจะมุ่งพิจารณาเป้าหมายหลัก 3 เป้าหมาย ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายหลัก ดังนั้น ในการพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสมก็จะคำนึงถึงความเชื่อมโยงหรือผลกระทบของดอกเบี้ยต่ออัตราแลกเปลี่ยนประกอบด้วย รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

ขณะที่การส่งผ่านนโยบายเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มองว่าการใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือในการจัดการกับอุปสงค์ (Demand Management) ในแถลงการณ์ช่วงท้ายจะเห็นได้ชัดว่านโยบายการเงินอาจจะช่วยเศรษฐกิจได้บ้าง

แต่ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายๆ เรื่อง หากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากขึ้นอาจจะจำเป็นที่ต้องเน้นไปที่การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ นโยบายการเงินอาจจะเป็นการช่วยซื้อเวลาเท่านั้นหรือช่วยได้ในระยะสั้นแต่จะไม่ช่วยให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตได้

ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจขยายตัวไปเป็นสงครามค่าเงินนั้น นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า แนวโน้มที่ผ่านมาสงครามการค้ามีการขยายตัวมากขึ้น รวมถึงมีการขยายไปยังหลายคู่และหลายประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เรื่องของความไม่แน่นอนในเรื่องของความเสี่ยงทางด้านการค้าจึงมีมากขึ้น และความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าอาจมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบร็กซิท ที่ตามมาอีก ดังนั้น มองไปข้างหน้าแล้วปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศจึงมีมากขึ้น

ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเชื่อว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาจามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายละเอียดยังออกมาไม่ชัดเจน ดังนั้น กนง.จึงต้องติดตามต่อไป โดยในการประชุมที่ผ่านมามีการพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวแต่เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของมาตรการว่าจะทำอย่างไรและทำเท่าไหร่บ้าง

นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงแนวโน้มในเรื่องของนโยบายการคลังประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่ธปท.กล่าวถึงเป็นประจำว่าธปท.ใช้การพึ่งพาข้อมูล (Data Dependence) เมื่อมีภาพความเสี่ยง (ข้อมูล) ที่ให้ชั่งน้ำหนักมากขึ้นจะส่งผลให้ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินได้เหมาะสม

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตั้งแต่การลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ในวันที่ 29 เม.ย.58