แบงก์ไตรมาส 2 NPL ทรงตัว ศก.ซบปล่อยกู้ต่ำ-LTV ไม่กระทบซื้อบ้าน

ธปท.เปิดผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ภาพรวมเอ็นพีแอลทรงตัว เหตุแบงก์ตัดหนี้สูญ-ปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ-ธุรกิจแห่ออกหุ้นกู้มาชำระหนี้ คาดสินเชื่อรวมทั้งปีมีแนวโน้มโตต่ำกว่าปีก่อน เผยใช้เกณฑ์ปกติคุมสินเชื่อรถยนต์-ย้ำมาตรการแอลทีวีไม่กระทบการกู้บ้านหลังแรก มีประโยชน์-ส่งผลดีในระยะยาว

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงผลดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ว่า ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) ทรงตัวที่ 2.95% ของสินเชื่อรวม ส่วนยอดเอ็นพีแอลคงค้างอยู่ที่ 4.506 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 3.3 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการที่แบงก์ตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีนั้นตัวเลขเอ็นพีแอลลดลง จากการบริหารจัดการของแบงก์ และ NPL สินเชื่ออุปโภคลดลงเล็กน้อยจากการตัดหนี้สูญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้นในเกือบทุกเซ็กเมนต์ จาก 2.56% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.74% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว และแบงก์มีความระมัดระวัง และจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพ

สำหรับสินเชื่อรายย่อยพบว่า เอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงเล็กน้อย สวนทางกับสินเชื่อรถยนต์ที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ขณะที่เอ็นพีแอลบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี SM ในสินเชื่อรายย่อยยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรถยนต์

“ไตรมาส 2 นี้ สินเชื่อในภาพรวมลดลงมาอยู่ที่ 4.2% จาก 5.6% ในไตรมาสก่อน ซึ่งผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตลดลง หรืออยู่ที่ 2.6% จาก 4.4% เนื่องจากธุรกิจมีการออกหุ้นกู้ระดมเงินมาชำระหนี้เงินกู้ค่อนข้างมาก ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัว -0.1% จากที่ขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งถูกจัดเป็นรายใหญ่ที่ออกหุ้นกู้ได้ จึงมีการออกหุ้นกู้มาชำระคืนหนี้ ปีนี้ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าปีก่อน สินเชื่อก็จะโตน้อยกว่าปีก่อนที่โตที่ 6%”

ส่วนสินเชื่อรถยนต์ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีเกณฑ์ที่คุมเข้มขึ้นนั้น ปัจจุบัน ธปท.ยังใช้เกณฑ์ปกติในการตรวจสอบแบงก์ และกำชับให้คำนึงถึงคุณภาพในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าสินเชื่อรถยนต์ไม่ได้น่าเป็นห่วงเท่ากับการปล่อยสินเชื่อบ้านที่ ธปท.มีมาตรการแอลทีวี (LTV) ออกมาคุม สำหรับกรณีมีข้อเรียกร้องให้ผ่อนปรนมาตรการแอลทีวีนั้น ธปท.พร้อมรับฟัง และเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีในระยะยาว เพราะทำให้คนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกได้เข้าถึงอย่างแท้จริง และเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินที่จะไม่เกิดปัญหาในภายหลังด้วย

“ในไตรมาส 2 หลังใช้มาตรการแอลทีวีมา 3 เดือน พบว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกไม่ได้รับผลกระทบ โดยรวมยังโต 14% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะบ้านแนวราบโต 17.9% และบ้านแนวสูงโต 5.7% ส่วนการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป หดตัว -13% โดยบ้านแนวราบโต 3.3% และบ้านแนวสูงหดตัว -24.8%” นายธาริฑธิ์กล่าว