“สุริยะ” เปิดข้อสรุปหารือผู้ว่าฯ ธปท. ใช้เงินบาทส่งออกลดความเสี่ยงค่าเงิน

“สุริยะ” ได้ข้อสรุปหลังหารือแบงก์ชาติ ผู้ว่าฯ “วิรไท” หนุนให้ใช้เงินบาทส่งออกสินค้าลดความเสี่ยงค่าเงินผันผวน เตรียมจับมือคลังหนุนเงินประกันความเสี่ยงค่าเงิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อดูแลผลกระทบจากค่าเงินบาทว่า ธปท.กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการดูแลค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม การเข้าไปดูแลค่าเงินจะต้องทำอย่างระวัง เนื่องจากอาจถูกจับตาจากต่างประเทศว่าไทยพยายามแทรกแซงค่าเงิน นอกจากนี้ จากกระแสข่าวที่ว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศส่วนใหญ่จะเข้ามาพักเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงิส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ธปท.ชี้ว่าการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังมีสาเหตุมาจากการที่ดุลสะพัดเดินสะพัดของประเทศไทยเกินดุลอยู่ประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

ขณะที่แนวทางในการแก้ไขปัญหา ผู้ว่าฯ ธปท.เสนอว่า หากสามารถปรับเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการไทยเสนอราคาโดยใช้ค่าเงินบาทเป็นหลัก จะช่วยให้ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าลดน้อยลงไป โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ซื้อขายกับต่างประเทศสูง และมีการเสนอราคาเป็นค่าเงินต่างประเทศโดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก ขณะที่มีการใช้ค่าเงินบาทในการเสนอราคาประมาณ 50% และมีเพียง 11% ที่เสนอราคาด้วยเงินบาทในการทำการค้ากับประเทศภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าในการเสนอราคาเพื่อทำการค้าขายกะบออสเตรเลียสูงถึง 31%

ส่วนความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนจะร่วมมือกับกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนเงินประกันความในการทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่บริษัทเอกชน ประมาณ 30,000 บาทต่อราย หรือคิดเป็นวงเงินที่ได้รับการดูแลในแต่ละรายประมาณ 3 ล้านบาท ขณะที่ในระยะสั้นมองว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถออกมาตรการที่หนุนให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่านำเข้าเครื่องจักรต่างๆ ในราคาถูกได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการจ่ายเงินออกไปต่างประเทศจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอีกด้วย ถือเป็นผลดีทั้งสอง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและธปท.มีความเห็นตรงกันว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ในต่างจังหวัดยังเผชิญปัญหาเรื่องการจัดการที่ไม่ค่อยดีนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม SME ผ่านหลักสูตรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่สามารถช่วยเหลือด้านความรู้ให้ผู้ประกอบการ นอกเหนือจากความช่วยเหลือทางด้านการเงิน