TMB ปรับพอร์ตรายใหญ่ เจาะซัพพลายเชน-คุม NPL

เศรษฐกิจที่ทรงตัวช่วงนี้ ทำให้ธนาคารซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนบริษัทน้อยใหญ่ ต่างต้องเร่งหาหนทางประคองธุรกิจตัวเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการ ปรับกระบวนการภายใน และใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย

“เสนธิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) เล่าว่า ล่าสุดธนาคารได้ใช้วิธีปรับพอร์ตให้ลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่เข้ามาอยู่ในพอร์ตลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ เพื่อให้บริหารจัดการสอดรับกับแผนงานด้านลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ที่จะขยายไปกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของบริษัทรายใหญ่ด้วย

โดยปัจจุบัน พอร์ตธุรกิจรายใหญ่ มียอดสินเชื่อคงค้าง 3.55 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.Multicorporate Banking (MB) ยอดขายตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.8-1.9 แสนล้านบาท 2.Corporate Banking (CB) ยอดขายตั้งแต่ 1-5 พันล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 8 หมื่นล้านบาท และ 3.Business Bank-ing (BB) ยอดขายตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.2-1.3 แสนล้านบาท

“กลุ่ม MB ที่เป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย แต่ก็มีจำนวนจำกัด ทำให้การเติบโตจะไปอยู่ในกลุ่ม CB และ BB ที่บางส่วนเป็นซัพพลายเชนของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม CB ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ อาหาร อาหารเพื่อการส่งออก ดังนั้นนอกจากธนาคารจะบริการด้านสินเชื่อแล้ว เราจะทำโซลูชั่นดิจิทัลเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ทำธุรกรรมการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วย”

สำหรับปีนี้ธนาคารจะมุ่งขยายสินเชื่อใหม่ โดยเน้นฐานลูกค้าเดิมที่มีประวัติดี พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างราว 3.9 แสนล้านบาท เติบโต 10-13% จากปีก่อน ส่วนรายได้ตั้งเป้าเติบโต 6% จากสิ้นปีก่อน ที่มีรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกค้าธุรกิจในปีนี้ จะควบคุมที่ระดับ 1.7% โดยจะใช้ระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้า จับสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงให้ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า (RM) ดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือลูกค้าก่อนมีปัญหา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาคะแนนการทำธุรกรรม (Transactions Score) เพื่อวิเคราะห์เครดิตและความเสี่ยงของลูกค้าในกลุ่ม BB ด้วย

การปรับกลยุทธ์ของธนาคารจะผสานกับการใช้เทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน