รื้อเกณฑ์ลดหย่อนภาษีอย่าเอื้อคนรวย

(Photo by THERESA BARRACLOUGH / AFP)

บทนำ

หลังปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงต้นปี 2559 และบังคับใช้ในปีภาษี 2560 โดยกำหนดวงเงินค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นหลายรายการ ล่าสุด กรมสรรพากรจะรื้อโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง เนื่องจากผู้ได้รับประโยชน์จากค่าลดหย่อนตามโครงสร้างภาษีปัจจุบันคือเศรษฐี ผู้มีรายได้สูง

ขณะที่มนุษย์เงินเดือนกับคนชั้นกลางแทบไม่ได้อานิสงส์ เช่นเดียวกับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่อยู่ในข่ายต้องจ่ายภาษี เท่ากับโครงสร้างภาษีดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมากขึ้นเพราะโครงสร้างภาษีกับเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนในลักษณะนี้ ใครมีรายจ่ายที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มากจะได้ประโยชน์มาก คนมีรายได้สูงจึงได้เปรียบ ต่างจากมนุษย์เงินเดือน คนชั้นกลาง ที่มีรายได้ไม่มากนัก ค่าใช้จ่ายที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีจึงมีน้อย ส่งผลให้คนทำงาน คนชั้นกลางเสียเปรียบ

พลิกดูมาตรการรัฐซึ่งระบุรายการที่ให้นำไปลดหย่อนภาษี อาทิ ค่าประกันชีวิต 1 แสนบาท ประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นบาท ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ไม่เกิน 5 แสนบาท ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ เงินบริจาคเพื่อการศึกษา-สังคม ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ฯลฯ ยิ่งเห็นปัญหาชัด

 จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับโครงสร้าง รวมทั้งอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาขึ้นพิจารณา จากนั้นจะนำมาปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนค่าลดหย่อนที่ปัจจุบันกลุ่มที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้สูงที่จ่ายภาษีเข้ารัฐในอัตรา 35%

เมื่อรู้จุดอ่อนและสาเหตุของปัญหาที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในระบบภาษีแล้ว หากเร่งแก้ไขโดยปรับรื้อโครงสร้าง อัตราภาษี รายการที่จะกำหนดให้ลดหย่อน เงื่อนไขในการหักลดหย่อนให้แล้วเสร็จและนำมาใช้ได้เร็วเท่าใด ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมจะลดลงเร็วขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญการรื้อโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารอบใหม่นี้ ต้องตอบโจทย์ประเทศทั้งในปัจจุบันและวันข้างหน้าให้ครบทุกมิติ ควบคู่กับอุดช่องโหว่รูรั่วปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ได้

ด้วยการใช้กฎหมาย มาตรการจูงใจ ต้อนผู้ประกอบการที่ยังหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบ เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือน คนทำงาน 4 ล้านคน ที่ยอมจ่ายภาษีแต่ละปีโดยไม่มีบ่ายเบี่ยงบิดพลิ้ว  หากทำสัมฤทธิ์ผลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมลงอีกทางหนึ่ง