แบงก์ชิงจับแพลตฟอร์มดัง เร่งเปิดเกมรุกขยายฐานปล่อยกู้

กระแสการที่ธนาคารพาณิชย์เข้าไปจับมือกับ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็มี ธนาคารกสิกรไทย เข้าไปจับมือกับ ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดัง เพื่อเสนอ “เงินกู้ธุรกิจออนไลน์” (MADFUND) แก่ผู้ค้าบนช้อปปี้กว่า 750,000 ราย ขณะที่ก่อนหน้านี้ แบงก์กสิกรไทยก็มีความร่วมมือกับแกร็บ (Grab) แพลตฟอร์มที่ให้บริการเรียกรถ แท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์, ส่งพัสดุ และสั่งอาหาร ในการให้สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) แก่ผู้ขับขี่แกร็บ มาตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ โดยช่วงนี้ก็ยังมีธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ที่ร่วมกับแกร็บ เปิดตัวบัตรเครดิตโคแบรนด์ “Citi-Grab” (ซิตี้แกร็บ) เพื่อเจาะตลาดไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอีกหลาย ๆ แบงก์ก่อนหน้านี้

โดย “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า MADFUND ที่ธนาคารให้กู้แก่ผู้ค้าบนช้อปปี้ จะมีจุดเด่นคือไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารตัวจริง คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 9% ต่อปี สำหรับผู้ค้าที่มีหลักประกัน และ 12-14% ต่อปี สำหรับผู้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งสามารถสมัครผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS และธนาคารจะคัดกรองผู้รับสินเชื่อจากข้อมูลรายได้ และพฤติกรรมการค้าขายอื่น ๆ ประกอบกัน โดยมีวงเงินอนุมัติสูงสุดถึง 600,000 บาท นอกจากนี้ ลูกค้ายังจะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ จากธนาคารอีกด้วย

“หากผู้ขายอยู่บนแพลตฟอร์มมาค่อนข้างนาน ก็อาจส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น เช่น ขายของมาแล้ว 6 เดือน เป็นต้น แต่หากผู้ขายเพิ่งเริ่มขายสินค้าบนช้อปปี้ได้ไม่นาน แต่มีหลักประกันก็อาจส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ขณะที่ดอกเบี้ยถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งคนอาจมองว่าการที่เราปล่อยกู้ทางออนไลน์ น่าจะมีต้นทุนถูกกว่าสาขา แต่ก็ต้องบอกว่าที่ผ่านมา เราก็มีต้นทุนระบบ ที่อาจสูงกว่าต้นทุนสาขาด้วยซ้ำ เพียงแต่การปล่อยสินเชื่อผ่านทางออนไลน์จะสะดวกกว่าเท่านั้นเอง” นายพัชรกล่าว

“พัชร” กล่าวด้วยว่า ธนาคารยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ได้แก่ ลาซาด้า (Lazada) และเจดี เซ็นทรัล (JD Central) ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1-2 ปี จึงจะเห็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีฐานลูกค้ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์รวมประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค (consumer loan) ที่ 70,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการปล่อยสินเชื่อทางโทรศัพท์มือถือราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสามารถปล่อยได้เกินกว่าที่ตั้งเป้าแล้ว และคาดว่าจะหนุนให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคในภาพรวมเติบโตทะลุเป้าได้

ฟาก “วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า บัตรเครดิตซิตี้แกร็บที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการเจาะตลาดไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีมูลค่าสูง โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เปิดไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) บัตรเครดิตของซิตี้แบงก์ในภาพรวม จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก เช่นเดียวการอนุมัติบัตรใหม่ที่น่าจะโตได้ 2 หลักเช่นเดียวกัน หลังผ่านมา 3 ไตรมาส ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. มีจำนวนบัตรเครดิตรวมกว่า 1 ล้านใบ ซึ่งฐานลูกค้าบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ ลูกค้าจะต้องมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

“สิ่งสำคัญ คือ คนใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะช็อปปิ้งอย่างเดียว มีทั้งส่งของ ส่งอาหาร ฉะนั้นการที่เรามีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง ๆ โดยเฉพาะลูกค้าของเราที่ใช้บริการ Grab อยู่แล้ว จะได้ on-top เลย และหวังว่าลูกค้าใหม่จะหันมาเป็นสมาชิกกับเรา ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าบัตรใหม่ของเราได้มากขึ้นแน่นอน” นางวีระอนงค์กล่าว

ด้าน “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ช่วงนี้จะเห็นหลาย ๆ แบงก์ร่วมมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อต่อยอดการให้สินเชื่อที่เรียกว่า “information base lending” ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางใหม่ของระบบธนาคาร โดยมีตัวอย่างที่ทำสำเร็จแล้วในประเทศจีน ได้แก่ กรณีอาลีบาบา ที่มีการให้กู้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ โดยดูข้อมูลจากประวัติการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม หรือกรณีวีแชท เป็นต้น

“สิ่งที่แบงก์ทำได้ในระดับหนึ่ง คือ การใช้ข้อมูลธุรกรรม ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย มาพิจารณา แต่ทุกแบงก์ไม่มีข้อมูลว่าซื้ออะไร ขายอะไรแบบชัด ๆ จึงต้องจับมือกับแพลตฟอร์ม ก็ทำให้ก้าวไปอีกขั้น โดยแนวทางนี้ก็เป็นอนาคตของระบบธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ยังเข้าไม่ค่อยถึงสินเชื่อ เพราะไม่มีหลักประกัน ผมคิดว่าทุกแบงก์ก็พยายามไปทางนี้ ใครจับมือใครได้ก่อน ก็น่าจะชิงความได้เปรียบได้” นายนริศกล่าว

อย่างไรก็ดี ในระยะแรกนี้คงเห็นความร่วมมือในการปล่อยสินเชื่อให้ฝั่งผู้ขายเป็นหลัก ยังก้าวไปถึงการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อสินค้า หรือใช้บริการแพลตฟอร์มยังไม่ได้ เนื่องจากอาจจะมีขีดจำกัดในด้านการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต่างกับอาลีบาบาที่ทำได้สะดวกกว่า เพราะไม่ต้องส่งข้อมูลลูกค้าไปให้บริษัทอื่น แต่ทำอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทเดียวกัน

“ที่อาลีบาบาทำ เขาให้กู้ทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ คือ เวลาคนซื้อสินค้า ชำระดีตลอด ก็จะได้เครดิตล่วงหน้า ตรงนี้เป็นอีกขั้นที่แบงก์ไทยยังไปไม่ถึง แต่ผมเชื่อว่าในอนาคต การปล่อยกู้ให้แก่ฝั่งผู้ซื้อ ก็เป็นสิ่งที่แบงก์อยากทำกัน” นายนริศกล่าว

แม้ปัจจุบันสินเชื่อจากแชนเนลนี้จะยังไม่โตมาก แต่เชื่อได้ว่าต่อไปสมรภูมินี้คงแย่งลูกค้ากันดุเดือดขึ้นแน่นอน