ธุรกิจแห่ออก ‘หุ้นกู้ตลอดชีพ’ ชูดอกเบี้ย 5%-เตือนความเสี่ยงสูง

แฟ้มภาพ

ทิศทาง “ดอกเบี้ยต่ำ” ดัน “หุ้นกู้ตลอดชีพ” กลับมาคึกคัก “บางจากฯ-อินโดรามาฯ-บี.กริมฯ” พาเหรดเสนอขาย perpetual bond ให้นักลงทุนทั่วไป ชูดอกเบี้ยสูง 5 ปีแรกจ่ายปีละ 5% สมาคมตราสารหนี้ฯ เตือนเสี่ยงหลายประเด็น ระบุบริษัทใหญ่แบกหนี้สูง หนีออก “หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน” ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ หวังล็อกต้นทุนยาว-ช่วยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดีขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้กระแสของการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) หรือ “หุ้นกู้ตลอดชีพ” เพราะกำหนดไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ กำลังกลับมาเป็นที่สนใจของตลาดอีกครั้ง

โดยในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ มีบริษัทที่เสนอขาย 3 ราย คือ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) มูลค่า 10,000 ล้านบาท เปิดจองวันที่ 15-17 ต.ค. 62, บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มูลค่า 15,000 ล้านบาท ช่วงวันที่ 4-7 พ.ย. และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มูลค่า 6,000 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 19-21 พ.ย.นี้

เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำ-ล็อกต้นทุนยาว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เห็นภาพการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) ได้รับความนิยมจากบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากในภาวะดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง

ขณะที่บริษัทที่ต้องการเงินทุนก็มองเป็นโอกาสในเสนอขายหุ้นกู้ประเภทนี้ แม้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ หรือการไปกู้แบงก์ เพราะบริษัทมีหนี้สูงแล้วการไปกู้เงินเพิ่ม อาจทำให้ขาดความคล่องตัว และไม่อยากรบกวนผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุน และความพิเศษของหุ้นกู้ประเภทนี้ในทางบัญชีสามารถนับเป็นทุนได้ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทดีขึ้นด้วย

“ช่วงนี้หลายบริษัทเสนอขาย perpetual bond เพราะดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีแค่ 1.4% ใครออกหุ้นกู้ระยะยาวได้ก็อยากล็อกต้นทุนไว้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สูง แต่อย่างกรณี บมจ.บางจากฯ D/E อยู่ที่ 1.3 เท่า ไม่ถือว่าสูง คาดว่าอาจเตรียมเงินเพราะมีโปรเจ็กต์ที่จะซื้อกิจการในอนาคต”

จ่ายดอกเบี้ยสูง-รับเสี่ยงสูง

นางสาวอริยากล่าวว่า ด้วยคุณสมบัติของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน จึงมองเป็นเหมือน “หุ้น” ตราบใดที่บริษัทไม่เจ๊ง หุ้นกู้ตัวนี้ก็จะจ่ายดอกเบี้ยไปตลอด โดยเฉลี่ย 5-7% ต่อปี เช่น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ประกาศจ่ายดอกเบี้ย 5 ปีแรกอยู่ที่ 5% และปีต่อ ๆ ไปก็บวกเพิ่มปีละ 0.25% หรือบางแห่งในช่วง 5 ปีแรกจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 6-7% แต่ทั้งนี้ เงื่อนไข perpetual bond คือ ผู้ออกสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้ โดยไม่ผิดข้อกำหนด

“หมายความว่าประกาศจะจ่ายดอกเบี้ย 5% แต่ถ้าผู้ออกมีผลประกอบการขาดทุนก็สามารถขอเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ ตามข้อกำหนดไม่ผิดที่จะเลื่อน แต่ถ้าบริษัทเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ perpetual bond เมื่อไหร่ บริษัทนั้นก็จะถูกห้ามจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทใดเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย”

ถ้ามองในแง่นี้ถือเป็นความเสี่ยง เพราะถ้าผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อไร ก็เป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องรับรู้ไว้ รวมทั้ง perpetual bond เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ หากบริษัทเลิกกิจการ ลำดับการได้รับเฉลี่ยคืนหนี้จะมาทีหลัง โดยเจ้าหนี้มีประกันจะได้รับก่อน รองลงมาจะเป็นเจ้าหนี้สามัญ และตามมาด้วยเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ และผู้ถือหุ้น

นางสาวอริยากล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ประเภทนี้ส่วนใหญ่ก็ขายหมด ส่วนหนึ่งอาจเพราะบริษัทที่เสนอขายเป็นบริษัทใหญ่ นักลงทุนคุ้นชื่อ แต่มีบ้างที่บริษัทเสนอขายไม่ใช่ investment grade เช่นบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่ง ทำให้ขายได้ไม่เต็มจำนวน

IVL ไถ่ถอนชุดเดิมลดต้นทุน ดบ.

นางสาวอริยากล่าวว่า หุ้นกู้ประเภทนี้ส่วนใหญ่ผู้ออกจะมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับเครดิตเรตติ้ง A เพราะเมื่อออกหุ้นกู้ประเภทนี้แล้วจะถูกลดเครดิตลงมาประมาณ 2 หรือ 3 ระดับ มาอยู่ที่เรตติ้ง BBB+ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงตรงนี้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ลงทุนต้องเข้าใจ ขณะเดียวกัน ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดก็ได้ เช่น บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ที่กำลังจะออกใหม่เพราะกำลังจะไถ่ถอนตัวเก่า เนื่องจากครบ 5 ปีแล้ว ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-5 สูงถึง 7% ซึ่งตัวใหม่คงจ่ายดอกเบี้ยถูกลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มูลค่าไม่เกิน 15,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยช่วง 5 ปีแรก กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี

นางสาวอริยากล่าวว่า ข้อดีของหุ้นกู้ประเภทนี้ในแง่นักลงทุนคือจะได้ดอกเบี้ยสูง แต่มาพร้อมความเสี่ยงที่ต้องทำความรู้จัก perpetual bond เป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุน แต่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยงของหุ้นกู้ประเภทนี้ และต้องรู้จักบริษัทที่ออก ต้องวิเคราะห์เครดิตของลูกหนี้

ทั้งนี้ การเสนอขาย perpetual bond ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 8 บริษัท ตามข้อมูลจากนางสาวอริยา โดยมีมูลค่าคงค้างรวม 7.7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

  1. บมจ.ซีพี ออล์ มูลค่า 20,000 ล้านบาท

2. บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร 15,000 ล้านบาท

3. บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส 15,000 ล้านบาท

4. บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 15,000 ล้านบาท

5. บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ 6,000 ล้านบาท

6. บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 5,000 ล้านบาท

7. บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 500 ล้านบาท

8. บมจ.ทีทีซีแอล 500 ล้านบาท

บี.กริมฯ รองรับขยายลงทุน

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ขออนุญาตออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปขั้นต่ำ 1 แสนบาท โดยตั้งเป้าเสนอขายรวม 6 พันล้านบาท พร้อมสำรองอีกไม่เกิน 2 พันล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเหตุผลในการออกหุ้นกู้คล้ายทุนในครั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเติบโตในอนาคตในการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ

บางจากขายหุ้นกู้เพื่อชำระคืนหนี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การออกหุ้นกู้ประเภทนี้ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับจังหวะและสถานการณ์ตลาดในขณะนี้ ซึ่งได้มีการหารือในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ส่วนใหญ่ให้ความสนใจ

สำหรับมุมมองที่ว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่า พิจารณาแล้วว่าไม่ได้เสี่ยง และที่สำคัญบริษัทยังได้รับการจัดเรตติ้งระดับ A โดยบริษัทมีแผนจะนำเม็ดเงินที่ได้ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิมของบริษัท และเตรียมสำหรับขยายการลงทุนในอนาคต หากผู้ซื้อให้ความสนใจจำนวนมาก อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะขยายวงเงินกู้เพิ่มอีกหรือไม่

ThaiBMA เผย 9 เดือนยอดออกหุ้นกู้ 8.33 แสนล้าน

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ยอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวปีนี้จะแตะ 1 ล้านล้านบาท โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามียอดออกแล้วราว 833,427 ล้านบาท ซึ่งการออกเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยกลุ่มธนาคารออกตราสารราว 245,749 ล้านบาท และกลุ่มอสังหาประมาณ 587,677 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มอสังหาฯ เป็นกลุ่มเดียวที่มียอดการออกเพิ่มขึ้นทุกปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี คาดว่าตราสารหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงไตรมาส 4/62 จะมีมูลค่า 123,251 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนกว่า 66% อยู่ในเรทติ้ง A- ขึ้นไป

ส่วนช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะมีบริษัทแห่งออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน อาทิ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน วงเงินรวมอีก 3.5 หมื่นล้านบาท

นายธาดากล่าวว่า สำหรับกระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยพบว่า 9 เดือน ต่างชาติขายสุทธิในตราสารหนี้ 75,722 ล้านบาท เป็นการลดลงในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น 126,105 ล้านบาท และ เพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 50,383 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิต่างชาติในตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 918,343 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 6.9% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

“ทั้งนี้ช่วง 9 เดือนแรกตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมเติบโต 3.7% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.27 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 61 อยู่ที่ 12.79 ล้านล้านบาท” นายธาดากล่าว