เศรษฐกิจหมุนเวียน

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

ปัจจัยจากแนวโน้มของประชากรทั่วโลกที่มีจำนวนมากขึ้น การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจก่อให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และสร้างปัญหาภาวะขยะล้นโลก ซึ่งปัญหานี้กำลังกลายเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลก โดยทุกฝ่ายมีความกังวลว่าจะสามารถรับมือและบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรที่เหลืออยู่ และนำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิและธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy คือการนำทรัพยากรที่ไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้อีกในอนาคต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวความคิดที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ “2018 Circular Economy Action Package” ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายและนโยบายในการลดขยะพลาสติก การลดการฝังกลบขยะ และเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตจากการรีไซเคิลได้ราวร้อยละ 30 ของปริมาณขยะโดยรวมภายในปี พ.ศ. 2573 ประเทศที่มีการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ชัดเจน คือ เดนมาร์ก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ให้สูงขึ้นถึง 0.8-1.4% ในปี พ.ศ. 2578

เศรษฐกิจหมุนเวียนยังสร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ธุรกิจการให้บริการด้านการขนส่งและกระจายสินค้า ธุรกิจรีไซเคิลขยะคุณภาพสูงธุรกิจ remanufacturing ธุรกิจ biofuel ธุรกิจแบบ sharing platform และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้บริโภคเองก็จะได้รับผลเชิงบวกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนตัวเลือกในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการที่ต้นทุนในการบริโภคสินค้าและบริการลดลง

ปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คาดว่านำร่องก่อนใน 5 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้

1.circular design มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน

2.circular supplies เป็นการนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (biobased materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการเกิดของเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต

3.product as a service รูปแบบธุรกิจให้บริการเช่าหรือชำระเงินเมื่อมีการใช้งาน (pay for use) แทนการซื้อขาด

4.sharing platform รูปแบบการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

5.resource recovery การออกแบบให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ นำวัตถุดิบเหลือใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกกำจัด แต่ยังสามารถใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด ขณะที่เทคโนโลยีที่มาสนับสนุนการพัฒนารูปแบบธุรกิจข้างต้น ได้แก่ เทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูลและการสื่อสาร (digital technologies) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของวัสดุและพลังงาน (physical technologies) และเทคโนโลยีด้านโครงสร้างทางชีวภาพ (biological technologies) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้ง แฟชั่นเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับองค์กรเพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ การที่ผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ของไทยหันมารณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกก็ถือเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งให้คนไทยตระหนักรู้ถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังเป็นแนวทางให้ธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อมสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ปฏิบัติได้ทันที